*** หมายเหตุ : ราคารับซื้อคืนทองรูปพรรณ ตามหลักเกณฑ์ สคบ.กำหนดให้ร้านทองสามารถหักได้ไม่เกิน 5% จากราคาทองคำแท่งรับซื้อในวันนั้น ๆ ทั้งนี้หลักเกณฑ์ดังกล่าวใช้เฉพาะกรณีซื้อ-ขายร้านเดิมเท่านั้น ***

บาทอ่อน เก็งกำไรคึกคัก หนุนดัชนีเชื่อมั่นทอง ก.ค.59 ปรับขึ้น 3 เดือนติด ด้านผู้ค้าทองมองปลายปีมีโอกาสแตะ 25,000 บาท

ณ วันที่ 06/07/2559

    กรุงเทพฯ-ศูนย์วิจัยทองคำเผยดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำเดือน ก.ค. ปรับตัวขึ้นอีกครั้งเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน จากค่าเงินบาทที่ยังมีทิศทางอ่อนค่า แรงซื้อเก็งกำไรที่ยังคึกคักและภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังชะลอตัวเป็นปัจจัยหนุนสำคัญ ส่วนปัจจัยกดดันสำคัญอยู่ที่ทิศทางค่าเงินดอลลาร์ที่มีโอกาสแข็งค่าจากเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ด้านแบบสำรวจผู้ค้ารายใหญ่เชื่อราคาทองคำในประเทศสูงสุดมีโอกาสขึ้นแตะ  25,000 อีกครั้ง ส่วนราคาทองคำในตลาดโลกมีเป้าสูงสุดที่ 1,600 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อออนซ์

    ดร. พิบูลย์ฤทธิ์ วิริยะผล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทองคำ เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำในเดือนกรกฎาคม 2559 ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำในเดือนกรกฎาคม 2559 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 7.77 จุด หรือเพิ่มขึ้น 12.83% สู่ระดับ 68.34 จุด สูงกว่าระดับ 50 จุดต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน โดยมีความเห็นสอดคล้องกันทั้งนักลงทุนและกลุ่มผู้ค้า โดยมีปัจจัยหนุนสำคัญจากค่าเงินบาทที่ยังมีทิศทางอ่อนค่าและแรงซื้อเก็งกำไรที่ยังมีเข้ามาอย่างต่อเนื่องส่วนปัจจัยลบอยู่ที่ทิศทางของค่าเงินดอลลาร์ที่มีแนวโน้มแข็งค่า ด้านการตอบแบบสอบถามเรื่องความต้องการซื้อทองคำในช่วง 1 เดือนข้างหน้าพบว่าสัดส่วนผู้ที่คิดจะซื้อทองคำในช่วงเดือนกรกฎาคม 2559 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 41.03% ขณะที่สัดส่วนผู้ที่ไม่คิดจะซื้อทองคำในเดือนนี้เพิ่มขึ้นมาที่ 30.40% ของกลุ่มตัวอย่าง ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำในระยะสามเดือนข้างหน้าปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน โดยเพิ่มขึ้น 3.86 จุดมาอยู่ที่ระดับ 62.21 จุด ยังสะท้อนมุมมองเชิงบวก

    บทสรุปความคิดเห็นผู้ค้าทองคำ (Gold Trader Consensus) จากผู้ประกอบกิจการค้าทองคำรายใหญ่ ผู้ค้าส่งทองคำ และผู้ประกอบกิจการนายหน้าซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่อ้างอิงกับราคาทองคำ จำนวน 6 ตัวอย่าง พบว่าผู้ค้าส่วนใหญ่เชื่อว่าราคาทองคำในประเทศเดือนกรกฎาคม 2559 จะยังมีโอกาสปรับขึ้นต่อ โดยมีผู้ค้า 4 รายมองราคาเฉลี่ยทองคำในประเทศจะปรับตัวเพิ่มขึ้นในเดือนกรกฎาคม 2 รายมองราคาทองเฉลี่ยจะใกล้เคียงกับเดือนมิถุนายน แต่ไม่มีรายใด เชื่อว่าราคาทองคำเฉลี่ยจะปรับตัวลดลง

    โดยผู้ค้ามองว่าราคาทองคำในตลาดโลกน่าจะมีกรอบราคาสูงสุดอยู่ระหว่าง 1,340-1,400 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อออนซ์ ส่วนกรอบการเคลื่อนไหวของราคาต่ำสุดอยู่ที่ 1,200-1,300 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อออนซ์ สำหรับราคาทองคำแท่งในประเทศ (ความบริสุทธิ์ 96.5%) กลุ่มตัวอย่างให้น้ำหนักราคาสูงสุดที่ 22,000-24,000 บาทต่อหนึ่งบาททองคำ และกรอบการเคลื่อนไหวต่ำสุดอยู่ที่ 20,000-22,000 บาทต่อหนึ่งบาททองคำ

    นอกจากนี้ศูนย์วิจัยทองคำยังได้จัดทำแบบสำรวจกรอบราคาทองคำในช่วงครึ่งหลังของปี 2559 จากผู้ประกอบการรายใหญ่และตัวแทนซื้อขายอนุพันธ์ที่มีความเกี่ยวข้องกับทองคำ 6 รายพบว่า ราคาทองคำในตลาดโลกเฉลี่ยครึ่งหลังอยู่ที่ประมาณ 1,314 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อออนซ์ ค่าเฉลี่ยสูงสุด 1,498 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อออนซ์ ค่าเฉลี่ยต่ำสุด 1,183 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อออนซ์ กรอบค่าเงินบาท ค่าเฉลี่ยครึ่งปีหลัง 35.38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ค่าเฉลี่ยสูงสุด 36.45 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ค่าเฉลี่ยต่ำสุด 34.32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนราคาทองคำในประเทศค่าเฉลี่ยราคาครึ่งหลังปี 2559 เท่ากับ 22,313 บาทต่อบาททองคำ ค่าเฉลี่ยสูงสุด 24,242 บาทต่อบาททองคำ ค่าเฉลี่ยต่ำสุด 20,383 บาทต่อบาททองคำ

    ศูนย์วิจัยทองคำยังเก็บข้อมูลต้นทุนหน้าเหมืองจาก 9 บริษัทผู้ผลิตรายใหญ่ในปี 2558 เพื่อดูแนวโน้มต้นทุนหน้าเหมืองพบว่าต้นทุนรวมในการประกอบธุรกิจเหมืองทองลดลงในช่วงปี 2558 จากต้นทุนรวม (All-In Sustaining Cost) เฉลี่ยถ่วงน้ำหนักในปี 2557 ประมาณ 959 เหรียญ/ออนซ์ มาอยู่ที่ระดับ 868.58 เหรียญ/ออนซ์ ในปี 2557 เช่นเดียวต้นทุนเฉพาะการผลิตทองคำ (Cash Cost) เฉลี่ยถ่วงน้ำหนักปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 676.49 เหรียญ/ออนซ์ ในปี 2557 มาอยู่ที่ระดับ 631 เหรียญ/ออนซ์ ในปี 2558

Download รายงานศูนย์วิจัยทองคำประจำเดือนกรกฎาคม ฉบับเต็มได้ที่นี่

อ่านรายงานศูนย์วิจัยย้อนหลัง ได้ที่นี่

URL Counter
ผู้ชม