*** หมายเหตุ : ราคารับซื้อคืนทองรูปพรรณ ตามหลักเกณฑ์ สคบ.กำหนดให้ร้านทองสามารถหักได้ไม่เกิน 5% จากราคาทองคำแท่งรับซื้อในวันนั้น ๆ ทั้งนี้หลักเกณฑ์ดังกล่าวใช้เฉพาะกรณีซื้อ-ขายร้านเดิมเท่านั้น ***

พระมหาเจดีย์ทองคำ แห่งเมืองดากอง

ณ วันที่ 19/12/2557

HTML Editor - Full Version

    ชเวดากอง คือ หนึ่งในพุทธสถานสำคัญที่ผู้คนมากมายใฝฝันอยากเดินทางไปนมัสการให้ได้สักครั้งหนึ่ง แสงสีทองมลังเมลืองจากแผ่นทองคำแท้ที่ฉาบทั่วองค์พระมหาเจดีย์ และประกายเพชรวิบวับจากยอดฉัตร คือ ความงดงามที่ยากลืมเลือน

    ว่ากันว่า ทองคำแท้ที่หุ้มพระเจดีย์ ซึ่งมีความสูงถึง 326 ฟุตนั้น มีน้ำหนักทองถึง 1,100 กิโลกรัม และฉัตรบนยอดสุดของพระเจดีย์ มีเพชรประดับอยู่ 5,448 เม็ด โดยเม็ดบนสุดมีขนาดใหญ่ถึง 76 กะรัต ประกอบด้วยทับทิมอีก 2,317 เม็ด

    ช่างชาวพม่าจะใช้วิธีตีทองคำแท้เป็นแผ่นๆ มาเรียงต่อกันปิดบนองค์พระมหาเจดีย์ สามารถมองเห็นรอยต่อแผ่นทองคำได้ หากแผ่นทองหมองลง ก็จะถอดหมุดแล้วแกะแผ่นทองออกมาขัดล้างปีละครั้งเป็นประเพณีสืบเนื่องตลอดมา

     พระมหาเจดีย์ชเวดากอง ตั้งอยู่บริเวณเนินเขาเชียงกุตระ เมืองย่างกุ้ง ประเทศพม่า แม้จะมีตำนานเล่าว่า สร้างขึ้นกว่า 2,500 ปีมาแล้ว แต่หลักฐานทางโบราณคดีทำให้เชื่อว่าพระมหาเจดีย์นี้สร้างขึ้นระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 6 – 10 โดยชาวมอญ แต่ถูกทิ้งร้างจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 14 พระเจ้าพินยาอู จึงทรงสร้างองค์พระมหาเจดีย์ขึ้นใหม่ สูง 18 เมตร จากนั้นมีการบูรณะซ่อมแซมเรื่อยมา จนมีความสูง 98 เมตร ในคริสต์ศตวรรษที่ 15

     คำว่า ชเวดากอง แปลว่า เจดีย์ทองแห่งเมืองดากองหรือตะเกิง ชเว คือ ทอง ส่วนดากองหรือตะเกิงเป็นชื่อเดิมของย่างกุ้ง เพราะพระมหากษัตริย์มอญและพม่าแทบทุกพระองค์ นับจากพระนางชินสอบู หรือนางพระยาตะละแม่ท้าวเจ้า กษัตรีมอญผู้ครองเมืองหงสาวดี ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติสืบต่อมาทุกรัชกาล ที่จะถวายทองคำเท่ากับน้ำหนักของพระองค์เองในการบูรณะพระมหาเจดีย์

     ทางขึ้นทั้งสี่ทิศ มีวิหารโถงสร้างด้วยเครื่องไม้ หลังคาทรงปราสาท ปิดทองล่องชาดประดับกระจกทั้งหลัง ภายในประดิษฐานพระประธานให้กราบไหว้บูชา รอบองค์พระมหาเจดีย์เป็นลานกว้างสำหรับพุทธศาสนิกชนจำนวนมากได้นั่งสำรวมจิตใจ บ้างก็ทำสมาธิเจริญสติภาวนานับลูกประคำ บ้างก็เดินประทักษิณรอบองค์พระมหาเจดีย์ชั้นนอก มีพระประจำวันเกิดและสัตว์สัญลักษณ์ประจำวันเกิดประดิษฐานอยู่ทั้งแปดทิศ สำหรับผู้ที่เกิดในวันนั้นๆ สรงน้ำพระประจำวันเกิดตน เพื่อสิริมงคงแก่ชีวิต

     ชาวพม่านับถือทิศทั้งแปดเหมือนกับคนไทย โดยรอบจักรวาล แบ่งเป็น 8 ทิศ คือ วันอาทิตย์ ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ มีครุฑ วันจันทร์ ทิศตะวันออก มีเสือ วันอังคารทิศตะวันออกเฉียงใต้ มีสิงห์ วันพุธ (เช้าหรือกลางวัน) ทิศใต้ มีช้างมีงา วันพุธ (เย็นหรือกลางคืน) ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ มีช้างไม่มีงา วันพฤหัสบดี ทิศตะวันตก มีหนู วันศุกร์ ทิศเหนือ มีหนูตะเภา และวันเสาร์ ทิศตะวันตกเฉียงใต้ มีพญานาค

     การสักการบูชาองค์พระมหาเจดีย์ชเวดากอง จะเริ่มจากการไหว้พระประธานที่วิหารโถงทิศใดทิศหนึ่ง ใน 4 ทิศ โดย สวดมนต์ภาวนา หรือจุดธูปเทียนถวายดอกไม้ด้วยก็ได้ จากนั้นไหว้พระประจำวันเกิด จุดธูปเทียนถวายดอกไม้ สรงน้ำพระเท่าจำนวนอายุ (บวกหนึ่ง) เดินประทักษิณ (วนขวา) ตั้งจิตอธิษฐานขอพรรอบเจดีย์หนึ่งรอบ บริจาคปัจจัยทำนุบำรุงองค์พระมหาเจดีย์ตามกำลังศรัทธา แล้วตีระฆังที่ตั้งไว้รอบพระเจดีย์ใบใดก็ได้ให้เทพยดาบนสวรรค์อนุโมทนารับส่วนบุญ

    พระมหาเจดีย์ชเวดากองยังเป็นพระธาตุประจำปีเกิดสำหรับคนเกิดปีมะเมียด้วย แต่หากไมสามารถเดินทางไปบูชาพระมหาเจดีย์ชเวดากองได้ จะนมัสการพระบรมธาตุเมืองตากแทนก็ได้

 

 

ขอบคุณภาพจาก
http://bigm517.blogspot.com/2014/07/mingalaba-myanmar-2014-shwedagon-pagoda.html
http://www.gskenney.com/
http://www.electrummagazine.com/

ที่มา : วารสารทองคำฉบับที่ 31 เดือนพฤษภาคม - มิถุนายน พ.ศ.2554

Free Website Counter
ผู้ชม