หาก ต้องการขยายโอกาสทางการค้าไปยังกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง โอมานนับเป็น 1 ในประเทศที่น่าสนใจ โดยนอกจากจะมีที่ตั้งที่เป็นประตูสู่ตะวันออกกลางแล้ว ยังสามารถเชื่อมต่อไปยังยุโรปและเอเชียได้ นอกจากนี้การเมืองและเศรษฐกิจยังมีเสถียรภาพมากกว่าประเทศอื่นๆ ในตะวันออกกลาง เนื่องจากโอมานไม่ยึดอุดมการณ์ทางการเมืองและศาสนาในการดำเนินนโยบายทาง เศรษฐกิจ อีกทั้งยังมีความสัมพันธ์อันดีกับประเทศไทย โดยในกลุ่มตะวันออกกลางจำนวน 14 ประเทศ โอมานจัดเป็นประเทศที่นำเข้าสินค้าจากไทยที่มีมูลค่าสูงเป็นลำดับที่ 4 รองจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซาอุดิอาระเบีย และอิสราเอล ด้วยมูลค่าราว 660 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี ซึ่งนับว่าเป็นตัวเลขขั้นต่ำเนื่องจากไม่ได้นับรวมการส่งออกสินค้าจากไทยไปยังดูไบและส่งต่อ (re-export) ไปยังโอมานอีกทอดหนึ่ง โอมานจึงเป็น 1 ในประเทศเป้าหมายที่น่าสนใจสำหรับการขยายโอกาสการค้าการลงทุนในต่างแดน โดยเฉพาะเมื่อรัฐบาลโอมานเร่งส่งเสริมเขตเศรษฐกิจพิเศษ “ดูคุม” และโครงการสร้าง Duqm Frontier Town เพื่อเป็นศูนย์กลางการส่งออกของตะวันออกกลาง
เนื่องจากรายได้หลักของโอมานกว่า 85% มาจากการส่งออกน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ จึงเป็นที่กังวลของประเทศคู่ค้าว่าสภาวะขาลงของราคาน้ำมันที่ปัจจุบันอยู่ที่ 41.58 เหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล (เมษายน 2559) จะสั่นคลอนต่อตัวเลขการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ รัฐบาลโอมานจึงเริ่มหาช่องทางลงทุนอื่น นอกจากการแสวงหาความมั่งคั่งจาก ทรัพยากรใต้ดินเป็นหลัก เช่น การลงทุนใน Mega Project อย่าง “ท่าอากาศยานนานาชาติแห่งกรุงมัสกัต” รวมทั้งเร่งส่งเสริม “เขตเศรษฐกิจพิเศษดูคุม” โดยอาศัยที่ตั้งของประเทศที่เหมาะสมแก่การเป็นเมืองท่า ให้เป็นศูนย์กลางทางการค้า การลงทุนของภูมิภาค โดยมี Special Economic Zone Authority of Duqm หรือ SEZAD กำกับดูแลอย่างเป็นทางการ และมี Public Authority for Investment Promotion and Export หรือ PAIPED ส่งเสริมให้ต่างชาติเข้ามาร่วมลงทุน ซึ่งมีแผนดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2562 โดยนักธุรกิจที่เข้าไปลงทุนจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางการค้า เช่น ได้รับการลด/ยกเว้นภาษีในการดำเนินธุรกิจ รวมทั้งได้รับการยกเว้นภาษีศุลกากรในการนำเข้าและส่งออกสินค้า
ทั้งนี้ จากความตั้งใจของภาครัฐในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษดูคุมให้เป็นตัวขับเคลื่อนทางธุรกิจทัดเทียมกับเขตการค้าพิเศษจีเบล อาลี ของดูไบ ตลาดโอมานจึงเป็น “โอกาส” ให้สาขาการผลิตที่มีศักยภาพของไทยอย่างธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับเข้าไปขยายช่องทางการค้า เพื่อขยายตลาดในประเทศโอมาน และเป็นแหล่งในการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไปยังตลาดอื่น โดยเฉพาะเมื่อเขตเศรษฐกิจพิเศษดูคุมดำเนินการแล้วเสร็จอย่างเป็นทางการ จะก่อให้เกิดการลงทุนอย่างมหาศาล และจะทำให้การบริโภคสินค้าฟุ่มเฟือยอย่างอัญมณีและเครื่องประดับตามมา โดยไทยมีตัวเลขการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไปยังโอมานอย่างเป็นทางการ ราว 3 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ เกือบทั้งหมดเป็นการส่งออกเครื่องประดับแท้ ประเภทเครื่องประดับทองคำ โดยชาวโอมานนิยมสวมใส่เครื่องประดับทองคำล้วน 21 กะรัต รองลงมาคือเครื่องประดับทองตกแต่งด้วยเพชร และเครื่องประดับทองตกแต่งด้วยอัญมณีเลียนแบบ ซึ่งมียอดขายสูงในช่วงเดือนรอมฎอน โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลเฉลิมฉลองทางศาสนาอิสลาม หรือ “Eid” ประกอบกับปัจจุบันโอมานเริ่มเน้นการบริโภคสินค้าที่มีคุณภาพมากขึ้น ส่งผลให้เริ่มลดการนำเข้าสินค้าจากจีนลง จึงเป็นโอกาสอันดีของผู้ประกอบการไทยที่ไม่ควรพลาดโอกาสการขยายตลาดไปยัง โอมาน เช่นเดียวกันกับ Prima Gold ที่ขยายสาขาไปยังกรุงมัสกัตเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ที่มา : ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
ขอบคุณภาพจาก : www.constructionweekonline.com