*** หมายเหตุ : ราคารับซื้อคืนทองรูปพรรณ ตามหลักเกณฑ์ สคบ.กำหนดให้ร้านทองสามารถหักได้ไม่เกิน 5% จากราคาทองคำแท่งรับซื้อในวันนั้น ๆ ทั้งนี้หลักเกณฑ์ดังกล่าวใช้เฉพาะกรณีซื้อ-ขายร้านเดิมเท่านั้น ***

ส่องตลาดทองคำราชอาณาจักรกัมพูชา (Kingdom of Cambodia)

ณ วันที่ 26/05/2559

    ประเทศกัมพูชาหรือที่เรียกกันเป็นทางการว่า “ราชอาณาจักรกัมพูชา” นั้นประกอบด้วยหลายเชื้อชาติ เช่น เขมร ญวน จีน และไทย มีภาษาเขมรเป็นภาษาราชการ แต่ทั่วไปก็มีการใช้ภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส เวียดนาม จีน และไทย ประเทศนี้มีพื้นที่เล็กกว่าไทย ประมาณ 3 เท่าและมีจำนวนประชากรน้อยกว่าไทยเกือบ 5 เท่า การปกครองในปัจจุบันเป็นแบบระบอบประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ และมีนายกรัฐมนตรี เป็นผู้นำในการบริหารประเทศ

    สกุลเงินของกัมพูชาคือ เงินเรียล (Riel ตัวย่อในทางสากลคือ KHR) โดยประมาณแล้ว 20 บาท จะแลกได้ 2,300 เรียล หรือ 1 ดอลล่าร์สหรัฐฯ จะแลกได้ 4,100 เรียบ (อัตราแลกเปลี่ยนเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2558) นอกจากนี้ยังมีหน่วยย่อยของเงินที่ใช้เป็น กาค (kak) และ เซน (sen) คือ 1 เรียล = 10 กาค และ 1 เรียล = 100 เซน แต่ในตลาดการค้าส่วนใหญ่จะนิยมใช้เงินดอลล่าร์สหรัฐฯ มากกว่า เงินบาทไทยจะนิยมใช้กัน ในแถบบริเวณชายแดนที่ติดกับไทย

    หลังจากที่กัมพูชาได้เข้าร่วมในองค์การการค้าโลก (WTO) ตั้งแต่ปี 2547 เศรษฐกิจของประเทศมีการพัฒนาและเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพราะนโยบายเศรษฐกิจและเสถียรภาพของรัฐบาลกัมพูชา และในปี 2558 นี้ท่ามกลางการชะลอตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก ตามรายงานจากสถาบันระหว่างประเทศรวมถึงธนาคารแห่งประเทศไทย แต่การเติบโตทางเศรษฐกิจของกัมพูชา ยังคงอยู่ในระดับดีมากคือประมาณ 7% และมีแนวโน้มที่สดใสต่อไปอีก ด้วยการสนับสนุนของตลาดในสหภาพยุโรป ดังนั้น กัมพูชาจึงถือว่า เป็นอีกหนึ่งประเทศในกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน AEC ที่ทำให้ภูมิภาคนี้เป็น “ภูมิภาคเนื้อหอม” สำหรับนักลงทุนจากต่างประเทศ

    ถึงแม้ว่าแผนนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจของกัมพูชาจะเน้นเรื่องของอุตสาหกรรมเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม อิเล็กทรอนิกส์ และการแปรรูปอาหาร แต่อุตสาหกรรมเหมืองแร่ทองคำก็เป็นที่สนใจจากนักลงทุนต่างชาติ เช่น ออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่น เกาหลี แคนาดา สหรัฐอเมริกา เช่นกัน

    บริษัทเหมืองสัญชาติออสเตรเลียที่เข้ามาทำเหมืองแร่ทองคำมีหลายแห่ง เช่น บริษัทเซาธ์เทิร์นโกลด์จำกัด (Southern Gold Ltd.) ในเขต จังหวัดกระแจ๊ะ (Kratie) และจังหวัดมณฑลคีรี (Mondolkiri) และเป็นหุ้นส่วนใหญ่ในโครงการ เหมืองทองสนูล (Snoul) บริษัท Liberty Mining International Co., Ltd และ บริษัท Battle Mountain Gold Ltd. บริษัท Summer Gold Investment Pvt Ltd. ในพื้นที่อำเภอโอยาดาว (O Yadov) และ Oz Minerals and Shin Ha Mining Company เป็นต้น

    ขณะที่บริษัทจากเกาหลีก็มี Oksan Cambodia Inc. จากจีนเองก็มีหลายบริษัทเช่น Anquing (Cambodia) Investment Company Co., Ltd., Cambodia Hai Lan Mineral Co., Ltd., China Forwin International Investment Phnom Penh Mining Co., Ltd. และล่าสุดจากประเทศแคนาดาคือบริษัท Ankor Gold Corp. นอกจากนี้ยังมีที่เล็กๆอีกหลายบริษัทจากประเทศในกลุ่มเออีซี เช่น มาเลเซีย เวียดนาม ไปทำสัมปทานเหมืองทอง และแร่โลหะต่างๆในกัมพูชา

    นโยบายกัมพูชาคือพยายามดึงนักลงทุนเข้าประเทศ โดยการออกกฎหมายเพื่อส่งเสริมการลงทุน ให้สิทธิประโยชน์ และความมั่นคงแก่นักลงทุนที่จะถือครองสิทธิ ในทรัพย์สินต่างๆ (ยกเว้น ที่ดินและอสังหาริมทรัพย์) และให้หลักประกันว่า ผู้ที่รัฐให้การส่งเสริมจะได้รับการปฏิบัติ เท่าเทียมกับคนกัมพูชาเอง และสามารถที่จะโอนเงินตราออกไปต่างประเทศได้อย่างเสรี

    ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (OIE) กระทรวงอุตสาหกรรม และมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ระบุว่าอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของกัมพูชานั้นยังไม่ครบวงจรเพราะขาดเทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิตที่ทันสมัย (ยกเว้นการขัดเงาเพชรเพื่อส่งออกไปผลิตเป็นเครื่องประดับซึ่งเป็นโรงงานของต่างชาติ) ส่วนใหญ่จะเป็นการผลิตในระดับครัวเรือน เพราะกำลังซื้อของชาวกัมพูชามีไม่มากนัก ตลาดส่งออกหลักในเรื่องอัญมณีและทองคำของกัมพูชาคือสิงคโปร์ โดยสินค้าส่งออกหลักจะเป็นทองคำ ส่วนตลาดรายย่อยอื่นของกัมพูชาก็มี ฮ่องกง สหรัฐอเมริกา และเยอรมนี เป็นต้น

    ปกติแล้วราคาทองคำในกัมพูชาจะผันแปรไปตามราคาของตลาดโลกโดยไม่ได้ถูกควบคุมโดยรัฐบาล ผู้นำเข้าทองคำต้องได้รับอนุญาตและมีทะเบียนการค้ากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งก็มีไม่มากนัก รายใหญ่ที่สุดรายหนึ่งคือ Ly Hour Exchange

    การนำเข้าทองคำส่วนใหญ่จะมาจากประเทศสิงคโปร์ และ ฮ่องกง การซื้อขายทองในกัมพูชาใช้หน่วยวัดน้ำหนักเป็น ชิ (Chi) เหมือนของประเทศเวียดนาม และ ตำลึง (Domlung ในภาษาเขมร สำหรับตำลึงจีน tael) ซึ่ง 10 ชิ จะเท่ากับ 1 ตำลึง และ 1 ตำลึง จะเท่ากับ 1.2 Troy Ounces หรือ เท่ากับ 37.49 กรัม ในประเทศกัมพูชาความบริสุทธิ์ของทองคำ จะระบุเป็นส่วนใน 1,000 ส่วน (parts per 1,000) ซึ่งถ้าเป็นทองคำในมาตรฐานสากล 24K ก็จะหมายถึง 99.999% หรือทองคำ 22K ก็จะหมายถึง 91.600% เป็นต้น

    โดยส่วนใหญ่แล้วคนกัมพูชาต้องการเครื่องประดับทองคำที่บริสุทธิ์มากที่สุด เช่น 99.999% ที่เรียกว่า Tuk Dorp Meas หรือ ทองคำบริสุทธิ์ในภาษาเขมร ในปี พ.ศ. 2534 มีการจัดตั้งธนาคารร่วมระหว่างกัมพูชา และแคนาดา เรียกว่า Canadia Gold & Trust Corporation Ltd. เพื่อจำหน่ายทองคำเป็นหลัก และอีกสิบสองปีต่อมา ก็ได้เปลี่ยนชื่อเป็น Canadia Bank Plc. ซึ่งเป็นธนาคาร ที่มีบัญชีฝากประจำในรูปของทองคำกว่าครึ่ง รองลงไปก็จะเป็นบัญชีเงินฝากประจำในสกุลดอลลาร์ ส่วนน้อยจะเป็นบัญชีเงินฝาก สกุลเรียล ซึ่งถือว่าเป็นธนาคารเอกชนที่ใหญ่ที่สุดในกัมพูชา และมีการขยายไปทั่วประเทศแล้วกว่า 50 สาขา

    นอกจากนี้ ยังมีบริษัทร่วมทุนอีกหลายแห่ง ที่ได้จดทะเบียนกับ National Bank of Cambodia เพื่อเปิดทำการ ซื้อขายทองแท่ง เช่น Liberty Gold (Cambodia) Import Export Co., Ltd เป็นต้น ในกรุงพนมเปญ มีผู้ค้าทองที่จดทะเบียนกว่า 2,000 บริษัท และแหล่งการซื้อขายทองคำที่สำคัญอยู่ในกรุงพนมเปญ ที่ Phnom Penh’s Olympic Market ปกติแล้วราคาทองคำ ในกัมพูชาจะถูกกำหนดโดยอ้างอิงราคาทองคำที่ลอนดอน และข้อมูลจากตลาดทองคำที่ฮ่องกง จึงเป็นธรรมดาที่ราคาทองคำ ในกัมพูชาจะสูงกว่าในฮ่องกง

    ในกรุงพนมเปญจะมีแหล่งชอปปิ้งสำหรับนักท่องเที่ยวหลากหลาย แต่ที่น่าสนใจคงจะเป็นศูนย์รวมร้านค้าต่างๆ รวมถึงร้านเครื่องประดับทองคำต่างๆ เช่น Psar Tuol Tom Pong or The Russian Market, Psar Thmei or The Central Market, NGO Stores และ Streets No. 178&240 เป็นต้น เครื่องประดับทองคำในกัมพูชาส่วนใหญ่ใช้เนื้อทองคำเปอร์เซนต์สูงกว่าในไทย ทำให้คนกัมพูชาไม่นิยมเข้ามาซื้อทองคำในฝั่งไทย (เนื้อทองไม่เหลืองสดเท่ากับของกัมพูชา)

    สำหรับปี พ.ศ. 2559 นี้ที่จะเป็นการเริ่มต้นของยุคเศรษฐกิจเออีซี ต้องนับว่ากัมพูชาเป็นอีกประเทศหนึ่ง ที่จะสามารถดึงดูดนักลงทุนจากต่างชาติได้มาก จากความได้เปรียบในหลายด้าน และมีแนวโน้มที่สดใสกว่าอีกหลายประเทศในกลุ่มเออีซีนี้

    จากพงศาวดารต่างๆ จะพบว่า ไทยกับกัมพูชาเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดกันมานานทั้งทางด้านภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และรัฐศาสตร์ มีการกระทบกระทั่งกัน จนนำไปสู่ความขัดแย้งถึงขั้นสงครามก็หลายครั้ง เมื่อต้นศตวรรตที่ 19 กัมพูชาได้ตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสถึงกว่า 90 ปี (เว้นแค่ในช่วงของสงครามโลกครั้งที่สองที่ถูกญี่ปุ่นเข้ามายึดครองแทน) และได้รับเอกราช จากฝรั่งเศสในปี พ.ศ. 2496 พร้อมๆกับลาว และเวียดนาม

    ลักษณะภูมิประเทศโดยรวมของกัมพูชาจะคล้ายชามหรืออ่าง คือ ตรงกลางเป็นที่ราบ มีแอ่งทะเลสาบ และลุ่มแม่น้ำโขง ล้อมรอบด้วยภูเขาที่ติดกับไทย และเวียดนาม ในอดีตนั้นมีป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์มากเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน แต่ปัจจุบันลดลงไปมากหลังจากที่รัฐบาลเปิดให้มีสัมปทานป่าไม้ กับบริษัทเอกชนจากต่างประเทศ

    กัมพูชามีการแบ่งเขตการปกครองเป็น 24 จังหวัด และ 1 เทศบาล หรือ กรุง คือกรุงพนมเปญ ซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศ และเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ มีแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญเช่น นครวัด นครธม ปราสาทบันทายศรี ปราสาทบายน เป็นต้น

    

ที่มา : Gold AEC วารสารทองคำ ฉบับที่ 48 เดือน มกราคม - กุมภาพันธ์ 2559