*** หมายเหตุ : ราคารับซื้อคืนทองรูปพรรณ ตามหลักเกณฑ์ สคบ.กำหนดให้ร้านทองสามารถหักได้ไม่เกิน 5% จากราคาทองคำแท่งรับซื้อในวันนั้น ๆ ทั้งนี้หลักเกณฑ์ดังกล่าวใช้เฉพาะกรณีซื้อ-ขายร้านเดิมเท่านั้น ***

สูตรคำนวณราคาทองคำของไทย ในช่วงสถานการณ์ “โควิด” ทำไมไม่ตรงกับที่เราคิดซะที?

ณ วันที่ 13/04/2563

    หลายท่านที่ลงทุนซื้อขายทองคำ คงหัวเสียไปตาม ๆ กัน กับการประกาศราคาทองคำ ของสมาคมค้าทองคำ ซึ่งบ้างก็ว่า “กั๊ก” แถมตอนนี้ยังมีการ “ถ่าง” 200 – 300 อีกต่างหาก นักลงทุนบางท่านพยายามหาเหตุผลด้วยตัวเองว่า ที่มีการชี้แจงออกสื่อนั้น เป็นเรื่องจริงหรือไม่ จนได้ข้อสรุปในใจว่า การ “ถ่าง” มันเป็นเรื่องจริงของการค้าทองทั่วโลกซึ่งขณะนี้ที่มีปัญหากระทบจากไวรัสโควิด แต่ไม่เข้าใจว่า ทำไมยังคำนวณราคาทองได้ไม่ตรงกับที่สมาคมประกาศซะที ทางเว็บไซต์ GoldAround.com ก็ได้ไปสืบหาข้อมูลจากแหล่งข่าววงในผู้ค้าทองที่มีการนำเข้าส่งออกจริง ได้ความว่า…

โดยปกติ ราคาทองคำของไทย จะมีการคำนวณ ดังนี้

=======================================================

ราคาทองคำแท่งไทย 96.5% =

[ (gold spot ± premium or discount) x 32.148 x ค่าเงินบาท x 0.965] ÷ 65.6

=======================================================

ประเด็นหลัก มี 2 ปัจจัยที่ต้องพิจารณา คือ

1.ค่า spread คือ

ช่วงห่างของ ราคารับซื้อ (bid) และ ราคาขาย (ask)

ปกติอยู่ประมาณ 0.30-0.50$ ต่อทองคำ 1 ออนซ์

2.ค่า premium / discount คือ

ค่าใช้จ่ายที่บริษัทผู้นำเข้าทองคำของไทย ต้องจ่ายให้กับบริษัทผู้ค้าทองในต่างประเทศ รวมถึง ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในการนำเข้า-ส่งออกทองคำ 

ปกติอยู่ที่ประมาณ ±1-2 ต่อทองคำ 1 ออนซ์

ถามว่า ทำไม ค่า premium / discount ถึงเป็นบวกลบ (±)

เนื่องจากตลาดมีทั้ง ฝั่งซื้อ และ ฝั่งขาย ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ราคาทองว่าจะอยู่ในทิศทางใด และ เป็นสภาวะ การนำเข้า หรือ การส่งออก

สำหรับในสภาวะตลาดที่คนส่วนใหญ่ทำการซื้อทองคำ (ช่วงราคาดิ่งลงแรง) ค่า premium จะติดบวก ซึ่งจะเรียกว่า premium (+)

ส่วนในสภาวะที่คนส่วนใหญ่ทำการขายทองคำ (ช่วงราคาดีดตัวขึ้นแรง) ค่า premium จะเป็นลบ ซึ่งจะเรียกว่า discount (-)

ตลาด ขานำเข้า = premium (+)
(ปริมาณ ซื้อ ในประเทศ มาก)
  ตลาด ขาส่งออก = discount (-)
(ปริมาณ ขาย ในประเทศ มาก)

ถามว่า บวก หรือ ลบ จากอะไร? ตอบว่า จากราคา gold spot ฝั่ง bid และ ask หรือ ราคาเสนอซื้อ และ ราคาเสนอขาย ที่บริษัทผู้ค้าทองคำในต่างประเทศ เสนอให้ผู้ค้าทองคำในไทย นั่นเอง โดยที่

เมื่อตลาดเป็นฝั่ง ขาส่งออก
discount = ลบ จากราคา bid
(discount โดยปกติจะมากกว่า -2
เนื่องจากมีต้นทุนค่า รีไฟน์นิ่ง)

 

เมื่อตลาดเป็นฝั่ง ขานำเข้า
premium = บวก จากราคา ask
(premium โดยปกติจะอยู่ที่ +1)

ซึ่งในสถานการณ์ปกติแล้ว ค่า premium / discount จะอยู่ที่ประมาณ ±1-3 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อ ทองคำ 1 ออนซ์ แต่ในสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ค่า premium / discount ที่บริษัทผู้นำเข้าทองคำของไทย จะต้องจ่ายให้กับบริษัทผู้ค้าทองในต่างประเทศ อยู่ที่ประมาณ -6 ถึง -15 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อ ทองคำ 1 ออนซ์

ตัวอย่าง ในสถานการณ์ปกติ

สมมุติ bid 1,650.00 และ ask 1,650.30 (ห่างกัน 0.30$)

ตลาด ขาส่งออก discount = ลบ จากราคา bid
1,650.00 – (2) = 1,648.00

ตลาด ขานำเข้า premium = บวก จากราคา ask
1,650.30 + (1) = 1,651.30

ตัวอย่าง ในสถานการณ์ COVID-19

สมมุติ bid 1,646.00  ask 1,652.00 (ห่างกัน 6$)

ตลาด ขาส่งออก discount = ลบ
1,646.00 – (12) = 1,634.00
(อัตรา discount โดยเฉลี่ย)

ลาด ขานำเข้า premium = บวก
1,652.00 + (10) = 1,662.00
(ไม่ค่อยมีนำเข้า premium จึงต่ำกว่า)

 หมายเหตุ : ช่วงโควิด เป็นตลาดส่งออกโดยส่วนใหญ่ เนื่องจากมีปริมาณขายมากกว่าปกติ

เมื่อนำมาเข้าสูตรการคำนวณราคาทองคำของไทย 96.5%

จากข้อมูลตัวอย่าง ในสถานการณ์ปกติ ตลาด ขาส่งออก (สมมุติ บาท bid 32.62 ask 32.65)

[ (gold spot (bid) – discount) x 32.148 x ค่าเงินบาท (bid) x 0.965] ÷ 65.6

[ 1,648.00 x 32.148 x 32.62 x 0.965] ÷ 65.6 = 25,422

จากข้อมูลตัวอย่าง ในสถานการณ์ปกติ ตลาด ขานำเข้า (สมมุติ บาท bid 32.62 ask 32.65)

[ (gold spot (ask) + premium) x 32.148 x ค่าเงินบาท (ask) x 0.965] ÷ 65.6

1,651.30 x 32.148 x 32.65 x 0.965] ÷ 65.6 = 25,496

จากข้อมูลตัวอย่าง ในสถานการณ์ COVID-19 ตลาด ขาส่งออก (สมมุติ บาท bid 32.62 ask 32.65)

[ (gold spot (bid) – premium) x 32.148 x ค่าเงินบาท (bid) x 0.965] ÷ 65.6

1,634.00 x 32.148 x 32.62 x 0.965] ÷ 65.6 = 25,205

จากข้อมูลตัวอย่าง ในสถานการณ์ COVID-19 ตลาด ขานำเข้า (สมมุติ บาท bid 32.62 ask 32.65)

[ (gold spot (ask) + premium) x 32.148 x ค่าเงินบาท (ask) x 0.965] ÷ 65.6

1,662.00 x 32.148 x 32.65 x 0.965] ÷ 65.6 = 25,662

    พอเห็นภาพแล้วใช่ไหม? และนี่จึงเป็นสาเหตุให้ ราคาทองคำตามที่สมาคมค้าทองคำประกาศไม่ตรงกับที่คำนวณได้ตามสูตรปกติ เนื่องจากนักลงทุนโดยทั่วไป จะกดสูตรโดยการ บวกค่า premium ±1$ ซึ่งเป็นการคำนวณราคาในช่วงเวลาปกติ แต่ใช้ไม่ได้กับสถานการณ์ COVID-19 ไม่นับรวมค่า spread หรือค่า “ถ่าง” ที่เกิดขึ้นจริงในตลาดโลก ณ ขณะนี้ ซึ่งสมาคมค้าทองคำของไทยก็แก้ปัญหาด้วยการ “ถ่าง” 200-300 สำหรับราคาซื้อขายและขายออกทองคำแท่ง

( ศึกษาเพิ่มเติม : https://www.goldtraders.or.th/ArticleView.aspx?gp=1&id=1144 )

    ประเด็นที่สำคัญและทำให้สับสันอีกประการหนึ่ง ก็คือ ราคาทองต่างประเทศ ที่เราเห็นวิ่งบนเว็บไซต์ต่าง ๆ นั้น ในช่วงเวลาปกติ จะไม่ต่างกันเลย ทั้งในกระดาน Forex ในเว็บทองคำต่างประเทศ หรือ ตลาดซื้อขายทองจริง แต่เมื่อเกิดปัญหาขึ้นมาในรอบนี้ เราจะเห็นว่าราคาที่แสดงในแต่ละเว็บไซต์ต่าง ๆ หรือแพลตฟอร์มเทรด Forex แต่ละค่าย วิ่งกันไปคนละทิศคนละทาง ไม่เท่ากันซักค่าย “แล้วเราจะต้องเลือกใช้อันไหนมาอ้างอิงกับราคาทองไทย”

    คำตอบก็คือ “ต้องใช้ราคาจากการซื้อขายทองจริงที่ผู้ค้าทองคำในต่างประเทศ ตกลงซื้อขายกับผู้ค้าทองคำในประเทศไทย” ซึ่งมีการส่งมอบจริง มีต้นทุนต่าง ๆ เกิดขึ้นจริง เช่น ค่าขนส่ง ค่าประกันภัย และต้องถูกบวกลบค่า discount หรือ premium จากบริษัทผู้ค้าทองในต่างประเทศ ในการนำเข้าทองจริง ต่างจากกระดานอิเล็กทรอนิกต่าง ๆ ที่ไม่มีต้นทุนดังกล่าว ยิ่งเกิดสถานการณ์ COVID-19 ต้นทุนเหล่านี้ก็สูงขึ้นกว่าปกติอย่างชัดเจน จากผู้ค้าทองคำในต่างประเทศแต่ละรายซึ่งไม่เท่ากัน การกำหนดราคาซื้อขายทองคำในบ้านเรา เป็นการกำหนดราคาในการซื้อขายทองจริง มีบริษัทนำเข้าส่งออกทองคำ โรงงานผู้ผลิตทองรูปพรรณ ร้านค้าส่งทองคำ ร้านค้าปลีกทองคำจำนวนว่า 6,200 ร้านทองทั่วประเทศ ต้นทุนที่เกิดขึ้นจริง จึงต้องคำนวณให้ครอบคลุมทั้งอุตสาหกรรม

จากภาพนี้ เป็นตัวอย่างให้เห็นถึงราคาทองคำที่บริษัทผู้ขายทองคำ 2 ราย INTL Fcstone (PMXecute) และ ICBC Standard Bank ในต่างประเทศกำหนดราคาซื้อขายในวันและเวลาเดียวกัน (10 เม.ย.63) โหดไหม…

INTL Fcstone
bid 1,676.80 ask 1,688.32

 

ICBC Standard Bank
bid 1,672.33 ask 1,676.52

ภาพแสดงค่า spread หรือ ช่วงห่างระหว่าง ราคารับซื้อ (bid) และ ราคาขาย (ask) ของทองคำในวันที่ 10 เมษายน 2563

นอกจากนี้ ในช่วงสถานการณ์ COVID-19 ยังส่งกระทบต่อการผลิตทองคำและการส่งมอบทองคำของผู้ผลิตในต่างประเทศ ทั้งเรื่องการนำเข้าส่งออกทองคำระหว่างประเทศ เรื่องการลดเที่ยวบินของสายการบินต่าง ๆ และมาตรการการปิดประเทศของประเทศผู้ผลิตบางแห่ง โดยผู้ผลิตทองในประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ซึ่งอยู่ใกล้พรมแดนอิตาลี และมีคนงาน 2 ใน 3 ของทั้งหมดเป็นชาวอิตาลี ซึ่งมีการผลิตทองคำราว 1,500 ตันต่อปี หรือเทียบเท่า 1 ใน 3 ของปริมาณการผลิตทั่วโลก ถูกสั่งระงับการผลิตชั่วคราว เพื่อยับยั้งการระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 สิ่งเหล่านี้ ก่อให้เกิดปัญหาต่อผู้ประกอบการค้าทองคำทั่วโลก ในเรื่องของสภาพคล่อง เนื่องจากส่งของไปไม่ได้ ปลายทางก็ไม่จ่ายเงิน เมื่อไม่จ่ายเงิน ก็ไม่มีเงินมารับซื้อทำให้ธุรกิจหยุดชะงักกันไปทั้งโลก

( ศึกษาเพิ่มเติม : https://www.goldtraders.or.th/ArticleView.aspx?gp=1&id=1145 )

ปัจจุบัน (10 เม.ย.63) ผู้ประกอบการค้าทองคำของไทย เริ่มทยอยแก้ไขปัญหาการส่งออก จนสามารถส่งออกได้บ้างบางส่วนแล้ว แต่ไม่ใช่ทั้งหมด โดยยังคงติดขัดปัญหา เมื่อส่งทองคำออกไปแล้ว จะต้องรอเงินอีก 7 วันทำการ (จากปกติไม่เกิน 1-2 วัน) ซึ่งบริษัทผู้ค้าทองคำในต่างประเทศจะชำระเพียง 80% เท่านั้น อีก 20% ที่เหลือ จะชำระหลังจากรีไฟน์เสร็จ ซึ่งต้องใช้เวลาประมาณ 7 วัน รวมแล้วใช้เวลาอีก 14 วัน ถึงจะได้เงินทั้งหมด ยกตัวอย่างเช่น หากผู้ค้าทองคำ ส่งทองคำออกไป 100 กิโลกรัม เป็นเงิน 176,000,000 บาท จะได้เงิน 140,800,000 บาท ใน 7 วันข้างหน้า และจะได้ส่วนที่เหลือ 35,200,000 บาท ในอีก 14 วันข้างหน้า

-------------------------------------------------------------

จะเห็นว่าปัญหาเรื่องสภาพคล่องยังคงมีอยู่ แต่ก็ยังถือว่าดีกว่าในช่วงแรกของสถานการณ์ COVID-19 ซึ่งไม่สามารถส่งออกได้เลย อย่างไรก็ขอให้วิกฤตินี้ผ่านพ้นไปโดยเร็ววัน และหากนักลงทุนมองว่าในช่วงสถานการณ์เช่นนี้ การซื้อขายทองทำได้ยากลำบาก ก็ควรชะลอการซื้อขาย และกลับเข้าสู่ตลาดอีกครั้งเมื่อสถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติ

-------------------------------------------------------------

ที่มา : www.goldaround.com