*** หมายเหตุ : ราคารับซื้อคืนทองรูปพรรณ ตามหลักเกณฑ์ สคบ.กำหนดให้ร้านทองสามารถหักได้ไม่เกิน 5% จากราคาทองคำแท่งรับซื้อในวันนั้น ๆ ทั้งนี้หลักเกณฑ์ดังกล่าวใช้เฉพาะกรณีซื้อ-ขายร้านเดิมเท่านั้น ***

โลกการค้าทองคำในยุคดิจิทัล

ณ วันที่ 26/05/2566


ภาพ bitcoin ทองคำ ที่มา
www.freepik.com

“ทองคำ” เป็นสินทรัพย์ชนิดที่คงความมีค่าในตัวเองและเป็นเช่นนี้มาอย่างยาวนาน โดยเกี่ยวพันกันกับประวัติศาสตร์ของเงินตรา และมนุษยชาติในทุกสังคมและชนชาติ ที่เป็นเช่นนี้เพราะทองคำเป็นโลหะมีค่าที่หาได้ในธรรมชาติมีความทนทาน แปรรูปง่าย และคงคุณสมบัติพื้นฐานที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น

ในอดีตถึงปัจจุบันมีการใช้ทองคำเพื่อวัตถุประสงค์ต่างๆ มากมาย เช่น นำมาขึ้นรูปเป็นของใช้เครื่องประดับในกลุ่มคนชั้นสูง สามารถใช้ชำระหนี้แทนเงินตรา ใช้เป็นหลักประกันความมั่นคง และใช้อ้างอิงเพื่อผลิตธนบัตรสำหรับชำระหนี้ตามกฎหมายในแต่ละประเทศทั่วโลกจนถึงยุคศตวรรษที่ 20 เรียกว่า มาตรฐาน Gold Standard (แม้นว่าในปัจจุบันหลายประเทศก็มาใช้ระบบ fiat money แบบไม่ต้องมีทุนสำรองในการผลิตธนบัตรออกมาใช้ แต่รัฐบาลของหลายๆ ประเทศก็ยังสะสมทองคำสำรองเพื่อป้องกันความเสี่ยง)

นอกจากนี้ ทองคำยังสามารถสร้างผลกำไรให้กับนักลงทุนด้วย เช่น การลงทุนผ่านสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในตลาดโลก เป็นต้น เมื่อสังคมโลกก้าวเข้าสู่ยุคของการเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยีจึงมีคำถามว่าทองคำในยุคดิจิทัลนี้ยังคงมีบทบาทที่โดดเด่นเหมือนในอดีตอีกหรือไม่

คนไทยเราอาจจะคิดว่าการซื้อการขายทองคำไม่ได้ยากลำบากเพราะในประเทศเรามีร้านทองให้บริการสะดวกสบายอยู่ทั่วไป แต่สำหรับนักลงทุนต่างประเทศนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ตั้งแต่เรื่องของการขนส่ง การเก็บรักษา และค่าใช้จ่ายต่างๆ ผ่านค่าพรีเมี่ยม ทำให้ต้นทุนนั้นสูงขึ้นไปมาก ก็เกิดทางเลือกหลายอย่างให้กับนักลงทุนที่สนใจทองคำ เช่น มีการออกเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เรียกว่า Gold ETF (Gold Exchange Traded Fund) ในรูปแบบของกองทุนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เพื่อให้มีการซื้อขายได้สะดวกเหมือนหุ้น ใช้เงินน้อย ค่าใช้จ่ายต่ำ มีการบริหารจัดการโดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม ซึ่งจะนำไปลงทุนในกองทุน SPDR Gold Trust ต่อไป

อย่างไรก็ตาม ราคา Gold ETF นั้น ไม่ได้สะท้อนราคาทองคำตามความเป็นจริงเท่าไรนัก ล่าสุดในต่างประเทศก็เกิดกระแสของทองคำดิจิทัลขึ้น เริ่มจากกลุ่มผู้ค้าและผู้ส่งออกทองคำรายใหญ่ของโลก เพื่อเป็นทางเลือกให้กับนักลงทุนที่จะสะสมทองคำในโลกยุคดิจิทัล

อาทิ Perth Mint Gold Token (ที่บริษัท Infini Gold เป็นผู้ออกโทเคน และ Perth Mint เป็นผู้ดูแลทองคำซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าแรกของ digital gold token ที่อยู่บน public blockchain และรับประกันทองคำโดยรัฐบาลออสเตรเลีย) Digix (เป็นบริษัทที่มีฐานอยู่ในประเทศสิงค์โปร์) Paxos (ลูกค้าสามารถมาเปลี่ยนเป็นทองคำได้ที่ Bullion Exchanges ที่เมือง New York ประเทศสหรัฐอเมริกา) FineToken (เป็นบริษัทที่มีฐานอยู่ในประเทศลิกเตนสไตน์ และเก็บรักษาทองคำในประเทศสวิสเซอร์แลนด์) เป็นต้น


ภาพ bitcoin ทองคำ ที่มา www.siamblockchain.com

ปัจจุบันนี้กระแสของเงินดิจิทัลที่เรียกกันว่า cryptocurrency หลายสกุลก็ได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนในช่วงหลังๆก็มีการปรับกลยุทธ์เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือและเกิดการจูงใจโดยให้มูลค่าของสกุลเงินดิจิทัลเหล่านั้นผูกเข้ากับทองคำเพื่อเพิ่มเสถียรภาพ เรียกว่าเป็น stable coins หรือ gold-backed digital currencies

อันที่จริงทองคำดิจิทัลรุ่นแรกเกิดขึ้นตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 20 แล้ว หลังจากที่มีการเริ่มใช้อินเทอร์เน็ตกันในช่วงปี 1995 ทองคำดิจิทัลรุ่นนั้น มีชื่อเรียกกันว่า E-Gold โดยบริษัท Gold & Silver Reserve Inc. ซึ่งต่อมาจนถึงประมาณปี 2009 ก็เป็นที่สนใจของนักลงทุนมาก จนพบว่ามีบัญชีออนไลน์ถึงกว่าห้าล้านบัญชี และมีการสำรองทองคำเก็บอยู่ถึง 3.8 ตัน รวมเป็นมูลค่ากว่า 85 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

แต่ภายหลังบริษัทนี้ก็ถูกคำสั่งของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาให้ปิดไป เนื่องจากมีการตรวจสอบพบพฤติกรรมการซื้อขายที่ผิดปกติในบัญชีลูกค้าของบริษัทเข้าข่ายการละเมิดกฎหมายหลังจากนั้นมา ก็มีความพยายามที่จะสร้าง digital gold currency ในแนวทางของ E-Gold แต่ไม่เป็นที่นิยมเท่าที่ควร 

จนกระทั่งภายหลังมีการเปิดตัวของ bitcoin และการใช้เทคโนโลยี blockchain ก่อให้เกิดกระแส gold rush ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง เพราะกระแสนิยมในเรื่องของ gold-backed cryptocurrency ที่กำลังเกิดขึ้นในกลุ่มนักลงทุนขณะนี้

หลักการของทองคำดิจิทัลบน blockchain นั้น ได้รับความสนใจจากนักลงทุนมากในตลาดการลงทุน มีการกำหนดหน่วยเป็น โทเคน (token) ซึ่งส่วนใหญ่จะอ้างอิงถึงน้ำหนักของทองคำเช่น 1 โทเคน = 1 ออนซ์ทองคำ และทองคำนี้จะถูกเก็บไว้กับผู้ดูแลที่เชื่อถือได้ (trusted custodians) สามารถเปลี่ยนมือได้โดยผ่านการซื้อขาย และเงื่อนไขที่ออกแบบไว้สำหรับ blockchain  ทำให้การซื้อขายทองคำดิจิทัลนั้นปลอดภัย เนื่องจากไม่ต้องมีการระบุตัวตนเจ้าของ

นอกจากนี้ ข้อมูลการซื้อขายก็จะถูกบันทึก เอาไว้ในเครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่กระจายอยู่ทั่วโลก แบบที่ไม่ได้มีศูนย์กลางอยู่ในสถานที่เดียวด้วย ประโยชน์ที่เห็นได้ชัดของการซื้อขายทองคำดิจิทัลคือ ความสะดวกสบาย และเป็นการซื้อขายแบบไม่ต้องแสดงตัวตน โดยโทเคนนี้อาจจะมีค่าเท่ากับ หรือมากกว่าราคาทองคำปัจจุบัน แล้วแต่ความต้องการโทเคนทองคำในตลาดการลงทุน หากมีความต้องการมากราคาของมันก็จะสูงกว่าของราคาทองคำในตลาดโลกได้เช่นเดียวกับสินทรัพย์อื่นๆที่ซื้อขายกันทั่วไป


ภาพ bitcoin ทองคำ ที่มา www.cryptopolitan.com

เงินสกุลดิจิทัลนี้ก็เป็นผลผลิตหนึ่งของวิวัฒนาการหนึ่งในโลกดิจิทัลที่ผุดขึ้นมาค่อนข้างมากมายหลายสกุล ปกติแล้วนักลงทุน ในตลาดการลงทุนจะต้องยอมรับความไม่แน่นอนและความผันผวนของราคาในตลาดการซื้อขายที่จัดว่ามีความเสี่ยงสูง

จนกระทั่งในปี 2018 ก็เกิดกระแสตื่นตัวในเรื่องของ stablecoin เนื่องจากนักลงทุนบางส่วนต้องการให้เงินสกุลดิจิทัลมีเสถียรภาพที่มากขึ้น และลดความผันผวนของตลาด cryptocurrency ทำให้เกิดคำจำกัดความของคำว่า stablecoinซึ่งจริงๆ แล้ว ก็คือ cryptocurrency อีกประเภท ที่สามารถคงมูลค่าของตัวเองได้เนื่องจากมีการไปผูกกับสินทรัพย์อื่นที่มั่นคงกว่า เสมือนกับการประกันราคาไว้ด้วยเงินสกุลดอลลาร์ หรือทองคำเป็นต้น

ในปัจจุบันเราอาจแบ่งกลุ่ม stablecoin ตามลักษณะของมันได้เป็น 3 รูปแบบ คือ

Fiat-collateralized คือ เงินสกุลดิจิทัลที่อ้างอิงเปรียบเทียบกับเงินตราทั่วไปที่รัฐหรือประเทศได้ตราขึ้น เพื่อใช้ชำระหนี้ตามกฎหมาย โดยธนาคารจะเป็นผู้ควบคุมระบบเพื่อสำรองเงินตราเมื่อมีการกำหนดจำนวนเงินสกุลดิจิทัลนั้นออกมาในตลาด ในกรณีนี้อาจจะเป็นสินทรัพย์อื่น เช่น ทองคำที่มีความมั่นคงกว่าก็ได้เช่นกัน ตัวอย่างในกลุ่มนี้คือ Tether Digix เป็นต้น

Crypto-collateralized คือ เงินดิจิทัลที่มีการสำรองที่ประกันราคาโดยเงินสกุลดิจิทัลอื่นๆ ซึ่งน่าจะมีความได้เปรียบในประเด็นที่มีการอ้างอิงที่ชัดเจน แต่ก็มีจุดอ่อนที่สำคัญ คือ เงินดิจิทัลประเภทนี้มีการประกันโดยเงินสกุลอื่นที่อาจจะไม่มีเสถียรภาพ เงินดิจิทัลในกลุ่มนี้ก็มีพวก Ethereum และ Dai เป็นต้น

Non-collateralized คือ เงินดิจิทัลที่ไม่ผูกค่าเงินกับสินทรัพย์ใดๆ แต่ใช้หลักการ Seigniorage share ในการควบคุมค่าเงินโดยอาศัยอัลกอรีทึมในการรักษาดุลยภาพทางราคา คล้ายกับระบบของธนาคารกลาง ที่จะเพิ่มหรือลดการผลิต
ธนบัตรเพื่อให้ค่าของเงินเป็นไปตามที่กำหนด ตัวอย่างเช่น Carbon, Basis เป็นต้น


ภาพ bitcoin ทองคำ ที่มา www.cryptonewsz.com

บทบาทของทองคำในยุคดิจิทัลจะเปลี่ยนแปลงมากหรือน้อยนั้น มีหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง เช่น เศรษฐกิจโลก กระแสการลงทุนใน stablecoin ที่ผูกโยงเข้ากับทองคำ และการพัฒนาเทคโนโลยีเอไอ เป็นต้น ในขณะเดียวกันหากกระแสของทองคำดิจิทัล มีมากขึ้น เพราะนักลงทุนเห็นว่าสะดวกสบาย สามารถแบ่งส่วนซื้อขายกันได้เล็กถึงขนาดเศษส่วนของทองคำหนึ่งกรัม ทำให้เกิดความยืดหยุ่นในการลงทุนลดค่าใช้จ่ายให้น้อยลง เราก็อาจจะเห็นปรากฏการณ์เหมือนกับในอดีตเกี่ยวกับประวัติศาสตร์เงินตราที่อาจไปเกี่ยวพันผูกโยงกันระหว่าง cryptocurrency และ digital gold ได้ในอนาคต

ล่าสุดนี้จีนก็สร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับระบบการค้าเศรษฐกิจโลก ด้วยการเปิดตัวของเงินสกุลดิจิทัลของตัวเองที่เรียกว่า DCEP (Digital Currency Electronic Payment) หรืออีกชื่อหนึ่งว่า Digital Yuan รัฐบาลจีนได้ผลักดันให้มีการทดลองใช้อย่างจริงจังในหลายเมืองใหญ่ของจีนแล้วเมื่อราวกลางปี 2020 เงินสกุลดิจิทัลของจีนนี้เปรียบเสมือนตัวเร่งให้เกิดปฏิกิริยาใหม่ในวงการการเงินการค้าขายของโลก และจะเป็นตัวกำหนดบทบาทของ cryptocurrency ในโลกยุคดิจิทัลนี้หรือไม่เป็นเรื่องที่ต้องติดตามต่อไป

กระแสข่าวในโซเชียลระบุว่าอีกหลายๆ ประเทศก็กำลังจะผลักดันเงินดิจิทัลของตัวเองด้วย เช่น แคนาดา ออสเตรเลีย สวีเดน อิสราเอล และรัสเซีย เป็นต้น เป็นที่ยอมรับกันว่าในปัจจุบันจีนเป็นหนึ่งในพี่เบิ้มทางเศรษฐกิจการค้าโลก แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ จีนจะหาพื้นที่ให้กับ Digital Yuan ในสังคมการค้าโลกแม้แต่กับประเทศคู่ค้าของจีนเอง

นี่ก็เป็นอีกเรื่องนึงที่ควรค่าต่อการติดตามว่าจะส่งผลต่อระบบเงินตราของโลกเราในอนาคต และจะใช้ทองคำเป็นเครื่องมือสร้างความน่าเชื่อถือเหมือนในอดีตหรือไม่ โดยสรุปแล้วจากเทคโนโลยีทางดิจิทัลที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็วในปัจจุบันจะเอื้อให้เกิดการลงทุนในรูปแบบใหม่ รวมถึงจะทำให้ การลงทุนในทองคำดิจิทัลเป็นที่นิยมมากขึ้น

ที่มา : วารสารทองคำ ฉบับที่ 63 เดือน ตุลาคม-ธันวาคม 2563

เอกสารอ้างอิง

CoreLedger.  (2020, Januray 13). Why Digital Gold is Setting a New Standard. Retrieved from https://medium.com/coreledger/why-digital-gold-is-setting-a-new-standard-4bc269c9eb6e

Wilburn Wixom. (2018, April 9). The Real Reasons to Buy Gold in A Digital World. Retrieved from http://www.preciousmetalsmonthly.com/the-real-reasons-to-buy-gold-in-a-digital-world/

Deepta Bolaky. (2019, August 8). “Digital Gold” – New Safe-Haven Asset?  Retrieved from https://www.gomarkets.com/th/articles-th/cryptocurrency-th/digital-gold-new-safe-haven-asset/

Pratibha. (2020, July 26). Why are All the Eyes on China’s Digital Yuan? Retrieved from https://medium.com/datadriveninvestor/why-are-all-the-eyes-on-chinas-digital-yuan-a97c4b31bf38

Perth Mint Bullion Blog. (2019, November 15). Why Digital Gold? Why Now? Retrieved from http://www.perthmintbullion.com/th/blog/blog/19-11-15/Why_digital_gold_Why_now.aspx