*** หมายเหตุ : ราคารับซื้อคืนทองรูปพรรณ ตามหลักเกณฑ์ สคบ.กำหนดให้ร้านทองสามารถหักได้ไม่เกิน 5% จากราคาทองคำแท่งรับซื้อในวันนั้น ๆ ทั้งนี้หลักเกณฑ์ดังกล่าวใช้เฉพาะกรณีซื้อ-ขายร้านเดิมเท่านั้น ***

เจาะลึกแนวโน้มต้นทุนการผลิตทองคำ

ณ วันที่ 14/11/2557

HTML Editor - Full Version

             หนึ่งหัวข้อสำคัญที่ถูกพูดถึงและได้รับความสนใจค่อนข้างมากก็คือ ประเด็นเรื่องต้นทุนการผลิต นักลงทุนส่วนใหญ่เชื่อว่ามีโอกาสน้อยที่ราคาทองคำจะลงไปต่ำกว่าต้นทุนการผลิต แต่การกล่าวถึงต้นทุนดังกล่าว หรือที่ได้ยินกันค่อนข้างหนาหูว่า “ต้นทุนหน้าเหมือง” นั้น ยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนถึงที่มาของราคาหน้าเหมืองนั้นๆ บวกกับการขาดคำนิยามที่ชัดเจนถึงต้นทุนการผลิตที่พูดถึง ทำให้นักลงทุนที่ได้ยินอาจเข้าใจผิด และอาจส่งผลเสียต่อการลงทุนในทองคำได้เช่นกัน ซึ่งลองมาทำความรู้จักกับต้นทุนการผลิตอย่างละเอียด พร้อมจับกระแสและแนวโน้มของต้นทุนการผลิตกัน

                ต้นทุนการผลิตทองคำนั้นถูกแบ่งแยกย่อยเป็นหลายประเภทจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ที่จะต้องทราบถึงนิยาม รวมถึงสมการของต้นทุนแต่ละประเภท เพื่อให้เกิดความถูกต้องในการนำตัวเลขดังกล่าวมาใช้ในการตัดสินใจลงทุน โดนต้นทุนที่รายงานดังกล่าวนำมาใช้มีอยู่สองประเภทนั้น คือ

                ต้นทุนแบบ Cash Cost และแบบ All in sustaining cost โดยนำมาจากรายงานประจำปี 2556 ของ 8 เหมืองใหญ่ที่มีการผลิต คิดเป็นเกือบ 1 ใน 4 ของปริมาณการผลิตทองคำทั้งหมดในปี 2556 โดยแนวโน้มที่ผ่านมาต้นทุนการผลิตทองคำมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

                ต้นทุน Cash Cost คือต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการผลิตทองคำโดยตรง บวกกับค่าสัมปทานเหมือง และหักด้วยต้นทุนการผลิตโลหะอื่น ในกรณีที่เหมืองนั้นๆ มีการผลิตโลหะอื่นนอกเหนือจากทองคำ (เรียกว่า By-product credit) หรือสามารถเขียนเป็นสมการง่ายๆ ได้ว่า

                “ต้นทุน Cash Cost = ต้นทุนการขุด, ต้นทุนการขนส่ง, การหลอมขึ้นรูป (ต้นทุนที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิตทั้งหมด) + ต้นทุนสัมปทาน – ต้นทุนการผลิตโลหะอื่น (กรณีเหมืองนั้นมีการผลิตโลหะอื่นด้วย)”

                โดยลักษณะเฉพาะของต้นทุนประเภทนี้ คือเป็นต้นทุนที่สะท้อนถึงการผลิตโดยตรง เนื่องจากทุกขั้นตอนที่เกิดขึ้นเพื่อให้ได้ทองคำมาหนึ่งทรอยออนซ์จะถูกนำมาคิดรวมอยู่ใน Cash Cost ขณะที่ข้อจำกัดของต้นทุน Cash Cost จะอยู่ที่ต้นทุนดังกล่าวไม่ได้นำต้นทุนนอกเหมืองเข้ามารวมด้วย เช่น ต้นทุนสำนักงาน ต้นทุนการพัฒนาหรือต้นทุนธุรการ เป็นต้น

                All in sustaining cost (AISC) ต้นทุนของทั้งบริษัทเพื่อแก้ไขข้อจำกัดของต้นทุน Cash Cost ที่สะท้อนเพียงต้นทุนการผลิตทองคำโดยตรง แต่ไม่สามารถสะท้อนต้นทุนส่วนอื่นๆ ที่อยู่นอกเหมืองได้ จึงได้เกิดต้นทุน All in sustaining โดยต้นทุนแบบ AISC นั้นได้บวกค่าเสื่อมราคาต้นทุนสำนักงาน ต้นทุนการสำรวจ และต้นทุนธุรการ (G&A Expense) เข้าไป เพื่อให้สะท้อนต้นทุนของเหมืองทองคำนั้นๆ ได้อย่างรอบด้าน โดยเขียนเป็นสมการง่ายๆ ได้ว่า

                “ต้นทุน All in sustaining cost = ต้นทุน Cash Cost + ค่าเสื่อมราคา และตัดจำหน่าย + ต้นทุนสำนักงาน + ค่าใช้จ่ายในการสำรวจ + ต้นทุนธุรการ (G&A Expense)”

                ทั้งนี้ ต้นทุนที่ถูกนำมาหาแนวโน้มนั้นนำมาจากรายงานประจำปี 2556 ของ 8 เหมืองใหญ่ (เรียงตามปริมาณการผลิตคือ Barrick, Newmont, Goldcorp, Kinross, Goldfields, Polyus, Anglo gold และ Agnico) ซึ่งทั้ง 8 เหมืองใหญ่นี้มีปริมาณการผลิตอยู่ที่ 744.25 ตันในปี 2556 เมื่อเทียบกับปริมาณการผลิตทองคำทั้งหมดในปี 2556 จากรายงานของ World Gold Council ที่ระดับ 3,022.01 ตันจะคิดเป็นเกือบ 1 ใน 4 ของการผลิตทั้งหมด

                ในการดูแนวโน้มต้นทุนการผลิตนั้น ทางรายงานได้นำต้นทุน Cash Cost มาใช้เนื่องจาก 1.ความต่อเนื่องของข้อมูลต่างจาก AISC ที่เพิ่งถูกนำมาใช้เมื่อปี 2555 2. ต้นทุน Cash Cost เป็นต้นทุน ที่บอกถึงการผลิตทองคำโดยตรง ไม่รวมต้นทุนนอกเหมืองอย่างค่าเสื่อมราคา ต้นทุนสำนักงาน และต้นทุนอื่นๆ ซึ่งจะแตกต่างไปตามวิธีการทางบัญชีของแต่ละเหมือง เมื่อดูจากแนวโน้มตั้งแต่ปี 2550-2556 จะเห็นได้ว่าต้นทุนการผลิตทองคำ (แบบ Cash Cost) เพิ่มขึ้นมาตลอด โดยคาดว่าสาเหตุสำคัญของการเพิ่มขึ้นอยู่ที่ค่าใช้จ่ายในด้านเทคโนโลยี หรือการเพิ่มประสิทธิภาพในการขุด เพื่อหาทองคำใต้พื้นดินที่มีปริมาณลดลงทุกปี รวมถึงต้นทุนพลังงานและแรงงานที่เพิ่มขึ้นจากผลของเงินเฟ้อ ด้านต้นทุนแบบ Cash Cost เฉลี่ยถ่วงน้ำหนักโดยปริมาณการผลิตทั้ง 8 เหมืองจะอยู่ที่ 676.69 ดอลลาร์ต่อทรอยออนซ์

                หันมาดูที่ All in sustaining cost ซึ่งเป็นเหมือนต้นทุนรวมทั้งหมดของเหมืองทองคำ ในปี 2556 นั้นจะอยู่ที่กรอบ 915-1,202 ดอลลาร์ต่อทรอยออนซ์ Barrick มีต้นทุนน้อยที่สุดที่ 915 ดอลลาร์ต่อทรอย-ออนซ์  และ Goldfields มีต้นทุนมากที่สุด 1,202 ดอลลาร์ต่อทรอยออนซ์ และเมื่อนำมาคิดเป็นตัน ทุนเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักด้วยปริมาณการผลิต จะมีต้นทุนเฉลี่ยที่ 1,032.61 ดอลลาร์ต่อทรอยออนซ์

                เมื่อดูจากต้นทุน All in sustaining cost ที่ปี 2556 แล้วนั้น ทำให้คาดการณ์ได้ว่าราคาทองคำในช่วงนี้จะมีจุดต่ำสุดที่ระดับ $1,038 ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยของต้นทุน AISC เนื่องจากหากหลุดแนวรับดังกล่าวอาจทำให้บางเหมืองที่ต้นทุนสูงกว่าราคาทองคำในตลาดโลกลดการผลิตทองคำลง ส่งผลให้อุปทานทองคำในตลาดโลกลดลง และช่วยให้ราคาทองคำฟื้นมาได้อีกครั้งนั่นเอง

ขอบคุณภาพจาก : http://www.goldminingoregon.com/

ที่มา : วารสารทองคำฉบับที่ 42 เดือนกันยายน-ตุลาคม พ.ศ.2557

Free Site Counters  
ผู้ชม