*** หมายเหตุ : ราคารับซื้อคืนทองรูปพรรณ ตามหลักเกณฑ์ สคบ.กำหนดให้ร้านทองสามารถหักได้ไม่เกิน 5% จากราคาทองคำแท่งรับซื้อในวันนั้น ๆ ทั้งนี้หลักเกณฑ์ดังกล่าวใช้เฉพาะกรณีซื้อ-ขายร้านเดิมเท่านั้น ***

El Dorado นครทองคำ ที่นักล่าสมบัติยังคงถวิลหา...

ณ วันที่ 18/12/2557

HTML Editor - Full Version

แผนที่ที่เชื่อกันว่าจะนำทางไปสู่นครแห่งทองคำ El Dorado


     “เอลโดราโด” (El Dorado) หรือหมายถึง “นครทองคำ” เชื่อว่าหลายคนอาจจะเคยได้ยินมาบ้าง ในฐานะเมืองแห่งทองคำที่พวกนักล่าทองคำต่างใฝ่ฝันถึง และมีภาพยนตร์หลายเรื่องที่ได้หยิบยกเรื่องดังกล่าวไปพูดถึง แต่ยังไม่มีใครได้เคยสัมผัสกับของจริงสักครั้งว่ามันยิ่งใหญ่เพียงไร เพราะว่ากันว่าทุกอย่างในเมืองนี้ล้วนแต่เป็นทองคำ แต่ประเด็นสำคัญก็คือ เมืองนี้มันมีจริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงแค่เรื่องเล่าเท่านั้น

     ฟรังซิสโก ปิซาร์โร ผู้นำกลุ่มนักสำรวจ ดินแดนชาวสเปนสำหรับชื่อเอลโดราโดนั้น เซบาสเตีย เดอ เบลาลกาซาร์ บุรุษผู้สามารถพิชิตชนอินคาแห่งอเมริกาใต้ เป็นผู้ก่อตั้งเมืองควิโต้ ที่ปัจจุบันเป็นเมืองหลวงของประเทศเอกวาดอร์ และเป็นบุคคลที่ตามหานครแห่งนี้ ได้เรียกว่า El Dorado แต่ความจริงแล้วต้นตอของเอลโดราโด เกิดมาจาก ฟรังซิสโก ปิซาร์โร ซึ่งเป็นคนนำกลุ่ม นักสำรวจดินแดนชาวสเปน เดินทางจากปานามาเพื่อสำรวจดินแดนทางใต้ และค้นพบจักรวรรดิอินคาในปี ค.ศ.1526 ก่อนที่พวกเขาเห็นโอกาสที่จะได้ค้นพบมหาสมบัติในดินแดนแห่งนี้ จึงกลับมาสำรวจอีกครั้งในปี ค.ศ.1529 และเดินทางกลับไปสเปนเพื่อขอพระราชานุญาตและกำลังสนับสนุนเพื่อยึดครองดินแดนอินคา

    เมื่อพวกเขากลับมายังเปรู ในปี ค.ศ.1532 บ้านเมืองอินคากำลังวุ่นวายและอ่อนแอ เนื่องจากสงครามแย่งชิงบัลลังก์ระหว่าง อวสการ์ กับ อาตา อวลปา เพิ่งจบลง และเกิดโรคฝีดาษที่แพร่ระบาดมาจากอเมริกากลาง นับเป็นโชคร้ายของชาวอินคาที่มีข้าศึกบุกมาในช่วงเวลานี้

     ทั้งนี้ ปีซาร์โรมีกองกำลังทหารเหนือกว่าชาวพื้นเมืองมาก กองทัพสเปนปะทะกับพวกอินคาที่เมืองกาคามาร์กา ในวันที่ 16 พฤศจิกายน ค.ศ.1532 และสามารถจับตัวอาตาอวลปาไว้เป็นตัวประกันอาตาอวลปาเห็นว่าชาวสเปนสนใจทองคำและเงินมาก จึงเสนอค่าไถ่เป็นทองปริมาณมากพอที่จะเติมห้องขนาดกว้าง 4.8 เมตร ยาว 6.2 เมตรให้สูงถึง 2.5 เมตร และเงินปริมาณสองเท่าของห้องนั้น แต่เมื่อชาวอินคาสามารถหาค่าไถ่มาได้ ปีซาร์โรกลับไม่ยอมปล่อยตัวประกันตามสัญญา ระหว่างที่อาตาอวลปาถูกกักขัง อวสการ์ถูกลอบสังหาร โดยที่ชาวสเปนอ้างว่าเป็นคำสั่งของอาตาอวลปา และพวกสเปนก็ใช้เหตุนี้มาเป็นข้อกล่าวหาในการประหารอาตาอวลปา ในเดือนสิงหาคม ค.ศ.1533 ก่อนที่ให้กองกำลังทหารออกโจมตีและปล้นสะดมชาวอินคา จนในที่สุดก็ครอบครองอาณาจักรอินคาไว้ได้ทั้งหมด อาณาจักรอินคาพังย่อยยับ ว่ากันว่าบรรดาโบราณสถาน ศิลปกรรม ศิลปวัตถุอันล้ำค่า วิหาร สิ่งปลูกสร้างที่สำคัญและงดงามของชาวอินคา ถูกเผาทำลายวอดวาย เสียราบเป็นหน้ากลอง ขณะที่ข้าวของมีค่าที่ทำจากเงินและทองปริมาณมหาศาลก็ถูกปล้น และนำมาหลอมให้เป็นแท่งเพื่อขนขึ้นเรือส่งกลับไปยังสเปน

    หลังจากกองกำลังของสเปนเข้าครอบครองอาณาจักรอินคา ชาวอินคาบางส่วนถูกจับไปเป็นทาส และบีบบังคับขืนใจให้ชาวอินคาเปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ส่วนเลือดเนื้อเชื้อกษัตริย์ของชาวอินคาที่ยังมีชีวิตอยู่ ก็พยายามรวบรวมไพร่พลกอบกู้เอกราชหลายต่อหลายครั้ง แต่ก็ไม่เคยเอาชนะชาวสเปนได้ ไม่นานนักจักรวรรดิอินคาอันยิ่งใหญ่เดินทางมาถึงกาลอวสาน

     ขณะที่ เซบาสเตียน เดอ เบลาลกาซาร์ หลังจากได้ยินเรื่องนี้ และเกิดความเชื่อว่านครทองคำมีจริง ประกอบกับได้ยินคำบอกเล่าจากชนเผ่าพื้นเมือง ที่ว่า “จงสดับเถิด นายข้า ณ ดินแดนแห่งหุบเขาและป่าลึกไกลโพ้น ราชะอันอุดมสมบูรณ์ด้วยโภคทรัพย์ย่อมสถิตอยู่เหนือบัลลังก์ทองแห่งนครลับแล อันยากจะมีใครฝ่าไปถึง...สดับเถิดนายข้า ทองทั้งนั้น เนืองนองเต็มไปทั่วทั้งนครแห่งราชะนิรนาม จึงได้รับสมญาว่า นครทอง และองค์ราชานั้นย่อมได้รับสมญานามว่าสุวรรณราชเป็นแน่แท้ อย่าได้นึกเดาไปเลยว่า ราชสำนักแห่งพระองค์ก็ล้วนแล้วไปด้วยทองคำเพียงใด พึงสดับเพียงว่า ท้องถนนทุกสายแห่งนครทองนั้น ดาดผิวด้วยทองคำ ตามหุบเขา ตรวยโตรกชะโงกผาอันรายรอบนครทองนั้น ล้วนแล้วด้วยเพชรนิลจินดามหาศาลนัก มรกตขนาดเล็กที่สุดเท่าไข่ไก่เกลื่อนกล่นอยู่ตามท้องธารมิมีผู้ใดในนครทองจะสนใจ ด้วยว่าเห็นกันอยู่ทุกวันจนคุ้นเคยเสียแล้ว

  พึงสดับเทอญ โอ...ข้าแต่ท่านชาวผิวขาวผู้เจริญ อันว่าราชะสุวรรณราชนั้นไซร้ พระองค์ย่อมเคารพสุริยเทพอย่างเคร่งครัด ทุกถ้วนขวบปีพระองค์จักเสด็จไปยังริมท้องธารใหญ่เพื่อประกอบพิธีบัดพลีกรรมบูชาแด่สุริยะ เทพเป็นเจ้า พระองค์จักประดับเครื่องถนิมพิมพาภรณ์อันล้วนไปด้วยเครื่องทองแลเพชรนิล จินดา เสด็จสู่ชายฝั่งนทีธาร ณ ที่นั้น พระองค์จะเปลื้องเครื่องวราภรณ์ออกจนหมดสิ้น แล้วชุบชโลมวรกายด้วยฝุ่นทองเอิบอาบ ทั่วทั้งองค์ จนแลดูสุกสะพรั่งดั่งหนึ่งฉวีวรรณนั้นเป็นทองแท้ทั่วทั้งองค์ แล้วจึงเสด็จลงประทับในแพทองแล่นออกสู่ใจกลางท้องนทีแต่ลำพัง ณ ใจกลางท้องธารนั้นเอง พระองค์ย่อมประกอบพิธีบัดพลีบูชาแด่สุริยเทพ แล้วจึงโยนเครื่องใช้ในพิธีกรรมอันล้วนไปด้วยทองคำทั้งสิ้น ลงสู่ก้นธารใหญ่นั้น แลลงสรงสนานในนทีจนฝุ่นทองหลุดจากวรกายหมดสิ้นจึงกลับคืนสู่มหานคร”

 

 

   

    ทำให้ เซบาสเตียน เดอ เบลาลกาซาร์ ยิ่งเชื่อเรื่องนครแห่งทองคำมากขึ้น เนื่องจากอินเดียนแดงผู้นั้นจัดว่าเป็นปรมาจารย์ทางความรู้ศาสตร์เก่าแก่ ทั้งตำนานนี้ยังได้รับการยืนยันจากอินเดียนแดงเจ้าถิ่นแถวเอกวาดอร์อีก เบลลาลกาซาร์จึงเชื่อว่าเรื่องราวที่อินเดียนแดงผู้นั้นเล่าเป็นความจริง และเรียกกษัตริย์แห่งนครในตำนานว่า “เอล โดราโด”ที่แปลว่า สุวรรณราช หรือบุรุษทอง (Golden Man)และเริ่มต้นออกค้นหาดินแดน เอลโดราโด แต่เพราะมีเรื่องอื่นมาขัดขวาง เบลลาลกาซาร์จึงไม่ได้ออกค้นหานครลับแลนี้ แต่ผู้ที่ได้เบาะแสเกี่ยวกับนครนี้ กลายเป็นเกวซาดา ข้าราชการชาวสเปนที่เดินทางบุกลงใต้ จนได้รับหลักฐานเพิ่มเติมจากชาวอินเดียนแดงเผ่าชิบช่า ซึ่งมั่งคั่งร่ำรวยจนน่าพิศวง ในวิหารใจกลางเมืองชิบช่ามีมัมมี่ของกษัตริย์ที่สิ้นพระชนม์ไปแล้วนับสิบๆ องค์นอนเรียงราย ทุกองค์ประดับประดาด้วยเครื่องทองมากมาย ส่วนเทวรูปในวิหารนั้นมีพระเนตรที่ฝังด้วยมรกตเม็ดเท่าไข่ไก่ทั้งสองข้าง ชาวชิบช่าบอกเกวซาดาว่า ทองและมรกตเหล่านี้ได้มาจากการค้าขายกับชนเผ่าลึกลับที่อยู่ลึกเข้าไปในใจกลางป่าดิบ เกวซาดาจึงออกค้นหาตามคำบอกเล่า จนได้พบกับทะเลสาบกัวตาวิตา ทะเลแห่งตำนานที่องค์เอลโดราโดได้เสด็จมาทำพิธีบูชาสุริยเทพตามตำนาน แต่ก็พบแค่นั้น ไม่ได้มีวี่แววของนครทองหรือชาวเมืองลับแลเลย เกวซาดาจึงถอยกลับ

     นักแสวงโชคที่ออกติดตามหาขุมทอง เอลโดราโด นั้นมีมากมาย แต่ทุกคณะล้วนประสบแต่ความล้มเหลว แม้ว่าบางคณะจะได้พบเครื่องทองรูปร่างแปลกๆ อายุเก่าแก่มากจากชาวอินเดียนแดงเผ่าต่างๆ ของอเมริกาใต้ แต่ก็ไม่มากพอที่จะเชื่อว่าดินแดนที่พบนั้นเป็นขุมทองเอลโดราโดจริง แต่สิ่งที่กระตุ้นความปรารถนาให้ลุกโชนขึ้นมาก็เพราะว่าชาวอินเดียนแดงเจ้าของเครื่องทองเหล่านั้นล้วนเอ่ยอ้างแบบเดียวกันว่า ปู่ย่าตายายได้มาจากเมืองลับแลที่เต็มไปด้วยทองนั่นเอง

     แม้จะผ่านมานานกว่าร้อยปี เรื่องราวของขุมทองเอลโดราโด้ก็ยังคงเย้ายวนใจของกลุ่มนักล่าสมบัติอยู่เสมอ จนกระทั่งในปี ค.ศ.1969 ความเชื่อเกี่ยวกับเมืองลับแลนี้ก็ทำท่าว่าจะเป็นจริงขึ้นมา เนื่องจากการขุดพบเครื่องทองอันลือชื่อริมฝั่งทะเลสาบเชียช่าในประเทศโคลอมเบีย เครื่องทองนั้นทำด้วยทองคำธรรมชาติโซลิดโกลด์ เป็นรูปสลักฝีมือประณีตของบุรุษผู้ซึ่งคงเป็นกษัตริย์ ทรงประทับอยู่บนพระแท่นกลางแพใหญ่แวดล้อมไปด้วยคณะนักบวชและเครื่องสักการะต่างๆ แน่นอนว่ามันต้องเป็นรูปสลักของกษัตริย์แห่งเอลโดราโดขณะประทับบนแพทองคำ เพื่อไปถวายเครื่องสักการะแด่สุริยเทพตามตำนานแน่นอน ซึ่งหลักฐานที่ได้พบก็เป็นเพียงแค่หลักฐานชิ้นหนึ่งที่คาดว่าได้มาจากนครทองคำเอลโดราโด แต่ก็แค่นั้น การค้นพบนี้อาจจะยืนยันการมีอยู่จริงของนครเอลโดราโดในตำนาน แต่การค้นหาตำแหน่งที่แน่นอนของนครแห่งนี้ ก็ยังคงความลึกลับให้นักสำรวจได้มีงานทำกันต่อไป

ที่มา : วารสารทองคำฉบับที่ 36 เดือนกรกฎาคม - กันยายน พ.ศ.2555

Counter
ผู้ชม