*** หมายเหตุ : ราคารับซื้อคืนทองรูปพรรณ ตามหลักเกณฑ์ สคบ.กำหนดให้ร้านทองสามารถหักได้ไม่เกิน 5% จากราคาทองคำแท่งรับซื้อในวันนั้น ๆ ทั้งนี้หลักเกณฑ์ดังกล่าวใช้เฉพาะกรณีซื้อ-ขายร้านเดิมเท่านั้น ***

อิสริยยศทองคำ เกียรติยศแห่งบรรดาศักดิ์

ณ วันที่ 25/12/2557

HTML Editor - Full Version

    เครื่องราชอิสริยยศหรือเครื่องยศ คือ เครื่องหมายแสดงเกียรติยศ เครื่องประกอบยศ และบำเหน็จความชอบที่พระมหากษัตริย์ไทย แต่ครั้งโบราณกาลมา สร้างขึ้นเพื่อ พระราชทานให้แก่ราชตระกูล ขุนนาง ข้าราชการ และบุคคลทั่วไป ที่มีตำแหน่งหน้าที่ ความชอบในแผ่นดินให้ปรากฏตามยศชั้น และฐานันดรศักดิ์ของผู้ได้รับพระราชทาน

     เครื่องยศ จึงสามารถบ่งบอกถึงความสำคัญของบุคคลนั้น ๆ ได้ ดังเช่น จดหมายเหตุของ นิโคลาส แซแว บันทึกไว้ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาว่า เราจะรู้ความสำคัญของขุนนางได้ จากหีบหมากพระราชทาน จากรูปพรรณและเนื้อโลหะ ขอบหลอมพอก ฐานะของเรือพาหนะ ดาบที่คาด การมีผู้เชิญข้างหน้า และจากจำนวนทาสที่ติดตามหลัง

    เครื่องยศ จึงมักทำด้วยวัสดุที่สูงค่า เช่น ทองคำ และงดงามด้วยฝีมือช่างที่มีความประณีต วิจิตรบรรจง มีรูปลักษณ์และลวดลายแตกต่างกันตามลำดับชั้นยศ

    เครื่องยศที่คุ้นเคยกันดี จะเป็นเครื่องยศในหมวดเครื่องอุปโภค หรือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น พานหมากหีบหมาก คนโท เจียด กาน้ำ ขันน้ำ ที่ชา กระโถน เป็นต้น โดยการพระราชทานจะต่างกันในเรื่องของวัสดุที่ใช้ผลิตได้แก่ เครื่องอุปโภคทองคำลงยาราชาวดี จะพระราชทานแก่พระบรมวงศานุวงศ์ และสามัญชนที่ดำรงตำแหน่งสมเด็จเจ้าพระยาจนถึงพระอัครมเหสี เครื่องอุปโภคทองคำลายสลัก จะพระราชทานแก่พระองค์เจ้าต่างกรมลงมา จนถึงผู้ดำรงตำแหน่งพระยา

    เช่น เครื่องยศของสมเด็จเจ้าพระยาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ จะประกอบด้วย พานทองลงยา เครื่องในทองลงยา คนโททองลงยาพร้อมพานรองทองคำลงยา หีบหมากทองลงยา พร้อมเครื่องใน 3 สิ่ง พานรองหีบทองลงยา ธำรงนพรัตน์ สังวาล นพรัตน์ แหวนตราประจำตำแหน่ง พระแสงดาบ เสลี่ยง พระกลด ประคำทอง 108 เม็ด และตระกรุดทอง

      ในขณะที่เครื่องยศเจ้าพระยา จะประกอบด้วย พานทองคำ พร้อมเครื่องใน 8 สิ่ง กระโถนทองคำ คนโททองคำพร้อมพานรอง หีบหมากพร้อมพานรอง ดาบฝักทองคำ ประคำ 108 เม็ด แหวนทองคำ ฯลฯ เครื่องยศของพระยา ก็จะประกอบด้วย โต๊ะทองใหญ่ คนโททอง ประคำทอง 108 เม็ด กระบี่บั้งทอง ฯลฯ และสำหรับขุนนางชั้นพระ ตำแหน่งผู้ช่วยราชการเมือง ได้รับพระราชทานถาดทอง คนโททอง ปลัดเมือง ได้รับพระราชทานเสื้อผ้าหนึ่งสำรับ ถาดหมากกาไหล่ทอง คนโทกาไหล่ทอง สำหรับชั้นหลวงตำแหน่งยกกระบัตร ได้รับพระราชทาน เสื้อผ้าหนึ่งสำรับ ถาดหมากเงิน คนโทเงิน

    ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการรับเอาวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามา จึงมีการสร้างเครื่องราชอิสริยาภรณ์ขึ้นแทน โดยทำเป็นดวงดาราต่าง ๆ ครั้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการตราพระราชบัญญัติและสร้างเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลต่าง ๆ เช่น จุลจอมเกล้า ช้างเผือกและรามาธิบดี การพระราชทานเครื่องราชอิสริยยศจึงงดไป เปลี่ยนเป็นพระราชทาน เครื่องราชอิสริยาภรณ์ เป็นบำเหน็จความชอบแทน

   อย่างไรก็ดี ผู้ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลจุลจอมเกล้า จะได้รับพระราชทานเครื่องประกอบยศด้วย กล่าวคือ ผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นปฐมจุลจอมเกล้าวิเศษและปฐมจุลจอมเกล้า จะได้รับพระราชทาน พานหมากทองคำ (ทรงกลมทองคำลายสลักเฉพาะราชนิกุล) เครื่องประกอบ 8 สิ่งคือ มังสี 2, ผอบ 2, มีด ซองพลู ซองบุหรี่ ตลับภู่ คนโทน้ำพร้อมพานรองทองคำ (ทองคำลายสลักเฉพาะราชนิกุล) กาน้ำทองคำพร้อมโต๊ะทองคำ (ทองคำลายสลักเฉพาะราชนิกุล) หีบหมาก (หีบบุหรี่) พร้อมพานรองทองคำ กระโถนทองคำ (ทองคำลายสลักเฉพาะราชนิกุล) มาลาเส้าสะเทิ้น เสื้อทรงประพาส ดาบฝักทองจำหลักลาย

     ชั้นทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ และทุติยจุลจอมเกล้า จะได้รับพระราชทานเครื่องประกอบยศ ประกอบด้วย พานหมากทองคำ เครื่องประกอบ 8 สิ่ง คนโทน้ำทองคำพร้อมพานรอง กาทองพร้อมโต๊ะทอง กระโถนทองคำ หีบหมากทองคำ และชั้นตติยจุลจอมเกล้าวิเศษ จะได้รับพระราชทานโต๊ะทองคำ และกาน้ำทองคำ ซึ่งเป็นที่มาของคำเรียกขานแบบไม่เป็นทางการว่า “พระยาพานทอง” และ “พระยาโต๊ะทอง”

     สำหรับสตรีที่ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นที่ 1 ปฐมจุลจอมเกล้า จะได้รับพระราชทานเครื่องประกอบยศ คือ กระโถนทองคำ หีบหมากไม้แดงทองคำลงยา กาทองพร้อมโต๊ะทอง ขันน้ำทองคำ ผ้าปักทองแล่ง ส่วนชั้นที่ 2 ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ จะได้รับพระราชทานกระโถนทองคำ หีบหมากไม้แดงทองคำลงยา กาทองพร้อมโต๊ะทอง และผ้าปักทองแล่ง

     สำหรับผู้สนใจ สามารถชมความงดงามของเครื่องประกอบยศที่จัดแสดงอยู่ ณ ศาลาเครื่องราชอิสริยยศในพระบรมมหาราชวังได้ เพื่อความภาคภูมิใจในมรดก ทางวัฒนธรรม และดื่มด่ำกับฝีมือชั้นครูของช่างทองไทยแต่ครั้งอดีต ที่ยังคงคุณค่า ความงามจวบจนถึงปัจจุบัน

 

ที่มา : วารสารทองคำฉบับที่ 31 เดือนพฤษภาคม - มิถุนายน พ.ศ.2554

Free Hit Counters
ผู้ชม