*** หมายเหตุ : ราคารับซื้อคืนทองรูปพรรณ ตามหลักเกณฑ์ สคบ.กำหนดให้ร้านทองสามารถหักได้ไม่เกิน 5% จากราคาทองคำแท่งรับซื้อในวันนั้น ๆ ทั้งนี้หลักเกณฑ์ดังกล่าวใช้เฉพาะกรณีซื้อ-ขายร้านเดิมเท่านั้น ***

“เครื่องถม” บรรพศิลป์แห่งแดน “ทักษิณ”

ณ วันที่ 07/01/2558

HTML Editor - Full Version

    เครื่องถมเป็นงานประณีตศิลป์ชั้นสูงที่คนไทยรู้จักมาเป็นเวลาช้านาน และปรากฏในพงศาวดารว่าเครื่องถม นับเป็นหนึ่งในเครื่องราชูปโภคของไทย ที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากชาวโปรตุเกส ซึ่งเป็นชนชาวยุโรปชาติแรกที่ได้รับพระบรมราชานุญาตจากสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 แห่งกรุงศรีอยุธยาให้เข้ามาทำการค้าและตั้งรกรากในราชอาณาจักรไทย ตั้งแต่ปี 2061 ใน 4 หัวเมืองสำคัญ ประกอบด้วย กรุงศรีอยุธยา นครศรีธรรมราช ปัตตานี และมะริด

    ชาวโปรตุเกสนั้นไม่ว่าไปอยู่ที่ใดก็จะนำเอาวัฒนธรรม และขนบธรรมเนียมประเพณีของตนไปเผยแพร่ด้วย โดยเฉพาะที่เมืองนครศรีธรรมราชได้รับการสืบทอดวัฒนธรรมมาหลายอย่าง เช่น การจัดตลาดนัด การชนวัว ที่สำคัญคือการถ่ายทอดวิชาการทำเครื่องถม ทำให้เครื่องถมเริ่มเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย และเข้าสู่กรุงศรีอยุธยา ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งต่อมาได้โปรดเกล้าฯให้เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชจัดหาช่างถมที่มีฝีมือดีเข้ามาพำนักในกรุงศรีอยุธยา ระหว่างปี 2199-2231 เพื่อจัดทำเครื่องราชบรรณาการสำหรับให้คณะราชทูตกรุงสยามนำไปถวายสมเด็จพระสันตะปาปา ณ กรุงวาติกัน และพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส

    เครื่องราชบรรณาการที่ถวายสมเด็จพระสันตะปาปาเป็นกางเขนพร้อมราชสาส์นในหีบถมทอง บนพานถมทองส่วนเครื่องราชบรรณาการที่ถวายพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 คือ หีบถมทองบรรจุม้วนพระราชสาส์น

    ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พบว่าเครื่องถมนครศรีธรรมราชได้รับความนิยมอย่างยิ่งในราชสำนัก เมื่อสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดเกล้าฯให้ฟื้นฟูการทำเครื่องถม จนเครื่องถมรุ่งเรืองมาก และมีการกำหนดว่าเครื่องถมทองจะใช้สำหรับพระมหากษัตริย์เท่านั้น ส่วนขุนนางจะใช้ได้แต่เครื่องถมเงิน

   จวบจนสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เครื่องราชูปโภคทั้งหลายล้วนแต่เป็นเครื่องถม ได้แก่ พระแท่นที่เสด็จออกขุนนางและพระเสลี่ยง ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระที่นั่งภัทรบิฐ ครั้นถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์ ประดิษฐานไว้ในท้องพระโรงกลางภายใต้นพปฎลมหาเศวตฉัตร และยังมีพระที่นั่งถมทองขนาดใหญ่ที่เจ้าพระยานครให้ช่างทำขึ้นเพื่อทูลเกล้าฯ ถวายอีกด้วย

   นอกจากเป็นเครื่องราชูปโภคแล้ว เครื่องถมยังคงใช้เป็นราชบรรณาการสืบมา กล่าวคือ ในครั้งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานเครื่องถม ถวายแด่สมเด็จพระราชินีวิคตอเรียแห่งอังกฤษ และจนถึงบัดนี้ยังตั้งแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์พระราชวังบักกิ้งแฮม ไม่เพียงเท่านี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบันยังทรงพระราชทานเครื่องถมแด่สมเด็จพระราชินีอลิซาเบธที่ 2 แห่งอังกฤษ และแด่ประธานาธิบดีไอเซนฮาวแห่งสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะอย่างยิ่งทรงเลือกหีบบุหรี่ถมทอง และตลับแป้งถมทองแก่แพทย์และนางพยาบาลทั้ง 4 ที่ร่วมกันถวายการประสูติและอภิบาลพระองค์ท่าน ณ เมืองบอสตัน

    อย่างไรก็ตาม ในยุคที่เครื่องถมได้รับความนิยมแพร่หลายเป็นอย่างมาก เนื่องจากชาวเมืองนครศรีธรรมราชเป็นช่างที่มีฝีมือดี และมีการประกวดประชันกันเองจนมีการพัฒนารูปทรงและลวดลายในระดับสูง คือ มีน้ำยาถมดำสนิท เนื้อแน่น มีความมันเงา จนทำให้เครื่องถมที่ทำจากฝีมือช่างชาวนครศรีธรรมราชเรียกติดปากกันว่า “ถมนคร” กันมาถึงทุกวันนี้ ในครั้งนั้นได้มีชาวกรุงเทพฯ ที่มีใจรักในเครื่องถมผลิตเครื่องถมเองบ้าง ทั้งการทำเพื่อใช้เองและจำหน่าย ซึ่งได้รับความนิยมมากขึ้นด้วยเช่นกัน ด้วยเหตุนี้ ช่างทำเครื่องถมในกรุงเทพฯจึงมีการย้ายมาอาศัยอยู่ในย่านเดียวกัน และตั้งเป็นหมู่บ้านพาน ถนนพระเมรุ เขตพระนคร เพื่อทำเครื่องถมออกเลี้ยงชีพอย่างเป็นล่ำเป็นสัน (ปัจจุบันไม่พบการทำเครื่องถมในพื้นที่แห่งนี้แล้ว) แต่เครื่องถมที่ทำออกมาไม่มีความมันเงา และเป็นตามดพรุนทั่วชิ้นงาน เนื่องจากน้ำยาถมไม่มีคุณภาพ พระยาเพชรปราณี เจ้ากรมอำเภอ กระทรวงนครบาล จึงได้ทำการปรับปรุงสูตรน้ำยา เพื่อแก้ปัญหาตามดและเพิ่มความมันเงาให้แก่ช่างชาวพานถม

    ขณะเดียวกันยังมีการเผยแพร่วิชาทำเครื่องถมสู่สาธารณชน เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ได้เรียกนายหยุย ช่างถม แห่งหมู่บ้านพานถม เข้ามารับราชการครูช่างถมในโรงเรียนเพาะช่าง เพื่อถ่ายทอดวิชาการทำเครื่องถมให้แพร่หลายสืบไป

    นอกจากนี้ในส่วนของนครศรีธรรมราช ใน พ.ศ. 2456 พระรัตนธัชมุนี (ม่วง รัตนธัชเถระ เปรียญ) อดีตเจ้าคณะมณฑลนครศรีธรรมราช ได้จัดตั้ง “โรงเรียนช่างถม” ภายในวัดท่าโพธิ์ โดยใช้ทุนของท่านเจ้าคุณเอง นับว่าเป็นการถ่ายทอดวิชาชีพจากคนในสายตระกูลช่างถมสู่การเรียนการสอนวิชาเครื่องถมในระบบโรงเรียนด้วยเช่นกัน

    สำหรับลักษณะงานถมที่ได้รับความนิยม หรือที่เรียกติดปากกันว่า “เครื่องถมนคร” นั้นว่ากันว่าจะต้องมีความเงางามและมีลวดลายที่วิจิตรบรรจงอันเกิดจากการสลักด้วยมือล้วน ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเคาะ หรือแผ่รีด ทำให้ลวดลายมีความละเอียด ถ้าสังเกตจากด้านใน จะมีรอยสลักนูนขึ้นมา

    ลักษณะโดยรวมของถมเงินจะมองเห็นเป็น 2 สี ขาว (เงิน) และดำ (ยาถม) ส่วนถมทอง มีสีทอง (ทอง) และสีดำ (ยาถม) ซึ่งเป็นการนำถมเงินมาเพิ่มให้มีคุณค่าและความงดงามมากยิ่งขึ้น โดยการนำทองคำบริสุทธิ์มาบดผสมกับปรอทให้ละเอียดเคลือบทาผิวถมเงินที่ยังไม่ได้แรเงาให้ทั่ว และให้ความร้อนให้ปรอทระเหยให้หมดยังเหลือแต่ทองคำเคลือบติดอยู่บนผิวของถมเงิน นำไปขัดเงาและแรเงาขั้นสำเร็จอีกครั้งหนึ่ง ก็จะได้ถมทองตามต้องการ จะมีสีทองจากทองคำและสีดำจากยาถม

    โดยเครื่องถมแต่ละชิ้นเมื่อทำเสร็จแล้ว สามารถขายได้ 3 เท่าตัวของทุน ขึ้นอยู่กับฝีมือและความสวยงามของชิ้นงานและราคาค่าวัสดุ

    สำหรับปัจจุบัน แม้เสน่ห์ความงามเฉพาะตัวของเครื่องถมจะยังคงได้รับความนิยมไม่เสื่อมคลาย จนช่างไม่สามารถผลิตได้ทันเช่นเดียวกับยุคที่ผ่านมา แต่ช่างผู้ผลิตเครื่องถมต่างต้องประสบกับปัญหาต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ช่างฝีมือดีก็นับวันจะลดลง เพราะเป็นงานที่ต้องใช้ฝีมือ และความละเอียดประณีตสูง จึงทำให้ช่างสมัยใหม่นำเอากระบวนการทางวิทยาศาสตร์เข้ามาช่วย ซึ่งทำให้ต้นทุนในการผลิตต่ำลง แต่การผลิตด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ผู้ที่รักในศิลปะอาจไม่นิยม ในที่สุดงานเครื่องถมก็ด้อยความนิยมและเสื่อมลงไป

    แต่ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ที่ทรงโปรดฯ ให้ฟื้นฟูวิชานี้ขึ้นมาใหม่อีกครั้งหนึ่ง เพราะทรงเกรงว่าวิชาทำเครื่องถมจะสูญสิ้นไป

    จึงทรงโปรดฯ ให้นำช่างชาวนครศรีธรรมราชมาเป็นครูสอนสมาชิกศูนย์ศิลปาชีพ ทำให้ปัจจุบันมีช่างผู้สืบทอดเกิดขึ้นมาจำนวนหนึ่ง เครื่องถมจึงกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง

ขั้นตอนการผลิตเครื่องถม

    1. การขึ้นรูป ต้องใช้เนื้อเงินไม่ต่ำกว่า 95% มาหลอมให้เป็นแท่งหรือแผ่น จากนั้นนำมาแผ่หรือรีดให้ได้ขนาดและความยาวตามต้องการ จากนั้นนำแผ่นเงินมาตีด้วยค้อนสลับกับการให้ความร้อนให้รูปทรงความโค้งรวมเข้าหรือขยายออกตามต้องการ

     2. การออกแบบลวดลาย ด้วยการร่างแบบด้วยดินสอบนภาชนะ

     3. สลักลายด้วยสิ่วสลักให้พื้นของลายลึกต่ำลงไป

    4. การลงยาถม ใช้ไฟเป่าแล่นเกลี้ยงเนื้อยาถมลงบนเครื่องเงินที่สลักลายไว้เรียบร้อยแล้วให้สม่ำเสมอทั่วกัน ทิ้งไว้ให้เย็นแล้วใช้ตะไบถูเอายาถมส่วนที่เกินออก ขัดจนได้ที่ ลวดลายสีงัดบนพื้นน้ำยาถมสีดำ “ถมเงิน”

    5. ถมทอง ต้องเปียกทองโดยใช้ทองคำบริสุทธิ์หรือทองคำพิเศษ นำมารีดให้เป็นแผ่นบาง ๆ ตัดเป็นชิ้นเล็ก ๆ ผสมกับปรอทบดให้ละเอียด มาทาบนเครื่องถมเงินให้ทั่วสม่ำเสมอประมาณ 2-3 ครั้ง ไล่ปรอทด้วยความร้อนก็จะเหลือเนื้อทองติดแน่น

    6. จากนั้นทำการเพลาลาย วิธีการนี้ช่างจะต้องแต่งลวดลายที่กระด้างให้ดูพลิ้วไหวมีชีวิตชีวา โดยใช้สิ่วแกะรายละเอียดส่วนต่าง ๆ ของลวดลายให้ปรากฏชัดขึ้น

  

ขอบคุณภาพจาก : library.stou.ac.th
www.culture.nstru.ac.th

ที่มา : วารสารทองคำฉบับที่ 29 เดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ พ.ศ.2554

Free Web Site Counters
ผู้ชม