*** หมายเหตุ : ราคารับซื้อคืนทองรูปพรรณ ตามหลักเกณฑ์ สคบ.กำหนดให้ร้านทองสามารถหักได้ไม่เกิน 5% จากราคาทองคำแท่งรับซื้อในวันนั้น ๆ ทั้งนี้หลักเกณฑ์ดังกล่าวใช้เฉพาะกรณีซื้อ-ขายร้านเดิมเท่านั้น ***

เปิดประสบการณ์ แอดมิน เว็บไซต์ ranthong.com และ FB “ร้านทองระวังภัย”

ณ วันที่ 02/03/2558

HTML Editor - Full Version

  

    อีกหนึ่งบุคคลที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการป้องกันและระวังภัยที่เกิดขึ้นในวงการค้าทองคำ ผ่านทางสื่อออนไลน์ เว็บไซต์ ranthong.com และ facebook ร้านทองระวังภัย ซึ่งคนในวงการรู้จักกันในชื่อของเอี้ยก้วย หรือนายองอาจ สิทธินววิธ นอกจากจะเป็นแอดมินของ www.ranthong.com แล้ว ยังเป็นแอดมิน facebook ร้านทองระวังภัยอีกด้วย

    นายองอาจฯ กล่าวถึง facebook ร้านทองระวังภัยว่าขณะนี้มีผู้ค้าทองเข้าไปใช้บริการและร่วมแบ่งปันข้อมูลเป็นจำนวนมากแต่ยังเป็นกลุ่มปิด คนที่จะเข้าไปได้ต้องเป็นผู้ค้าทองเท่านั้น ผู้ที่จะมาเป็นสมาชิกต้องสมัครโดยใช้เอกสารใบค้าของเก่า หรือ ทะเบียนพาณิชย์ เพื่อป้องกันกลุ่มมิจฉาชีพที่จะมาคอยดูความเคลื่อนไหวและล่วงรู้ข้อมูลของกลุ่มผู้ค้าทอง รวมถึงการดำเนินงานของสมาคมฯ และตำรวจ ในการป้องกันและปราบปรามกลุ่มมิจฉาชีพ

    หลังจากที่ facebook ร้านทองระวังภัย ได้เปิดตัวมาประมาณ 2-3 ปี ขณะนี้เครือข่ายได้ขยายตัวต่อเนื่องและได้รับข้อมูลหลายๆ ด้าน โดยผู้ประกอบการจะนำมาแบ่งปันกัน ก่อนที่ข้อมูลเหล่านั้นจะถูกส่งกระจายผ่านช่องทางต่างๆ ให้เพื่อนร่วมอาชีพได้รับทราบ ทั้งนี้ คุณเอี้ยก้วย ยอมรับว่าวิวัฒนาการของกลุ่มมิจฉาชีพค่อนข้างจะน่ากลัว งานของปลอมที่ทำออกมาใกล้เคียงของจริงมาก

    “ในช่วงแรกๆ งานของปลอมที่ผลิตออกมา ไม่ใกล้เคียงกับของจริงหรอก ผู้ที่มีความชำนาญไม่ต้องมากมายมองผ่านๆ ก็ดูออก แต่ปัจจุบันงานของปลอมพัฒนามาเรื่อยจนเทียบเท่าของจริงแล้ว ถ้าผู้ค้าไม่ดูให้ละเอียดรับรองว่าพลาดแน่ๆ อย่างไรก็ตามผู้ที่อยู่ในเครือข่าย และได้ข้อมูลไปก็อาจจะได้รับความปลอดภัยเพิ่มขึ้น เพราะสมาชิกจะแจ้งข้อมูลว่าในพื้นที่ใดควรจะระวัง และทองลวดลายใดให้เพิ่มความระมัดระวัง หรือการปฎิบัติงานของกลุ่มมิจฉาชีพจะมาในลักษณะใด”

    คุณเอี้ยก้วย ได้เล่าถึงประสบการณ์ที่เกิดกับตัวเองว่า ในช่วงเปิดร้านใหม่ๆ ประมาณ 8 เดือนแรกก็โดนไปหลายราย โดยกลุ่มมิจฉาชีพจะมาในลักษณะของการขายฝาก โดยทำทีเป็นลูกค้าธรรมดาทั่วไป มีทั้งผู้หญิงท้อง มีเด็กมาด้วย หลากหลายรูปแบบซึ่งช่วงนั้นประสบการณ์ยังน้อยก็เลยพลาด

    “อย่าคิดว่าผู้ค้าจะมีโครงข่ายการสื่อสารการแจ้งเตือนฝ่ายเดียวนะ จากที่สัมผัสมาเชื่อว่ากลุ่มมิจฉาชีพก็มีกลุ่มไลน์กลุ่มเฟสบุ๊กเช่นกัน คือถ้าลงมือร้านไหนสำเร็จ ก็จะแจ้งในกลุ่มให้คนอื่นๆ ลงมือต่อ นอกจากนั้น รูปแบบการลงมือรวมถึงสินค้าปลอมที่นำมาใช้ลวดลายก็จะต่างกัน ในอดีตเราอาจจะเตือนว่าให้ระวังลวดลายนี้ในพื้นที่นี้ แต่ปัจจุบันในพื้นที่เดียวกันก็มีของปลอมหลายลวดลาย สลับกันเข้ามา จะไม่ค่อยเอาลายเหมือนกันมาเพราะกลัวผิดสังเกต”

    คุณเอี้ยก้วย ได้แนะนำเทคนิคส่วนตัวในการดูว่าต้องใช้ประสบการณ์และการสังเกต เช่น วันนี้ปกติตลาดจะเงียบๆ แต่ทำไมมีลูกค้าเข้ามามาก หรือปกติรับฝากขาย วันละ 2-3 เส้นถ้าเข้ามา 7-8 เส้นแสดงว่าเริ่มผิดปกติแล้ว ต้องเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ รวมถึงเช็คข้อมูลจากเพื่อนๆ รอบข้างว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง นอกจากนั้น หากเจอลูกค้าหน้าใหม่ก็ต้องสังเกตมากขึ้นเป็นพิเศษ

    “ช่วงที่เราดูของต้องคอยสังเกตด้วยว่าเค้ามองเราบ่อยหรือเปล่า ถ้าเป็นลูกค้าปกติ วางของก็คือจบจะไม่สนใจอะไรให้เราเช็คดูด้วยความบริสุทธิ์ใจของเขาเองนั่นแหละ แต่ถ้าพวกมิจฉาชีพไม่บริสุทธิ์ใจอยู่แล้ว เวลาเราเช็คของ เค้าจะพยายามมองเราว่าเราจะรู้มั้ย จับได้มั้ย เพื่อจะเตรียมหนี ส่วนเรื่องของการตรวจสอบตัวสินค้า ก็ขึ้นอยู่กับเทคนิคของแต่ละคนว่า จะมีวิธีการอย่างไร ซึ่งก็จะคล้ายๆ กัน แต่ถ้าเป็นคนรุ่นเก่าๆ จะใช้วิธีเดาะน้ำหนัก ซึ่งอาศัยความชำนาญเป็นพิเศษถ้าเป็นพวกทองยัดไส้น้ำหนักจะต่างกัน มวลสารของทองจะมีน้ำหนักเฉพาะ ถ้าเป็นเงินเป็นทองแดงมันจะหนักคนละแบบ” คุณเอี้ยก้วย กล่าว

ที่มา : คอลัมน์ Gold Share วารสารทองคำฉบับที่ 43 เดือนพฤศจิกายน - ธันวาคม 2557

Free Website Counter
ผู้ชม